ข่าวใหม่อัพเดท » ผวจ.นครศรีธรรมราช เร่งแก้ไขปัญหาที่ดิน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มีข้อพิพาทกับประชาชนที่ยืดเยื้อมานานนับ 10 ปี

ผวจ.นครศรีธรรมราช เร่งแก้ไขปัญหาที่ดิน มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มีข้อพิพาทกับประชาชนที่ยืดเยื้อมานานนับ 10 ปี

10 ตุลาคม 2019
0

ผวจ.นครศรีธรรมราช เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่มีข้อพิพาทกับประชา ชน ที่ยืดเยื้อมานานนับ 10 ปี หลังศาลฎีกาพิพากษาให้รัฐ ทั้งชนะและแพ้คดี เตรียมเยียวยาหาที่ดินจัดสรรให้ผู้ที่แพ้คดี 27 ราย รวมทั้งต้องหาที่ดิน เพื่อจัดสรรให้ผู้ที่เคยได้รับที่ดิน ส.ป.ก.ให้แล้วแต่รัฐแพ้คดี เพื่อคืนสิทธิ์ให้ราษฎรผู้ชนะคดีในที่ดินแปลงเดิมคำสั่งศาลด้วย

         วันนี้(10 ต.ค.62) นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยถึงความคืบหน้า การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยระหว่างราษฎรและมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ภายหลักจากที่ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา 2 คดี คือ

          คดีแรก ที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ยืนฟ้องขับไล่ราษฎรจำนวน 35 ราย ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ให้ราษฎรออกจากพื้นที่ที่ตั้งมหาวิทยาลัย แต่ปรากฏว่าบัดนี้ใกล้ครบกำหนด 10 ปีนับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษา ซึ่งมหาวิทยาลัยฯได้แจ้งให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก.จังหวัดนครศรีธรรมราช เร่งรัดจัดหาที่ดินให้กับราษฎรที่ต้องย้ายออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดได้มีการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.ให้กับราษฎรแล้ว 2 ราย ๆ ละ 5 ไร่ อีก 6 รายขอรับเป็นค่าชดเชย จึงเหลือราษฎรที่ต้องออกจากพื้นที่ 27 ราย แต่ได้มีข้อตกลงกันว่าขอเยียวยาที่ดินรายละ 5 ไร่ แต่เนื่องจาก ส.ป.ก.ไม่มีที่ดินที่จะจัดสรรให้ราษฎรดังกล่าว เนื่องจากที่ดินที่เตรียมไว้กว่า 100 ไร่ ถูกราษฎรบุกรุกเต็มพื้นที่แล้วเช่นกัน ทำให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อนขึ้น แต่ ส.ป.ก.ได้มีการฟ้องร้องกับผู้ที่บุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ผลการบังคับคดีหมดสภาพบังคับ 10 ปี ซึ่งทางมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทำข้อตกลงกับราษฎรที่แพ้คดีทั้ง 27 รายแล้วว่า ยินยอมที่จะออกจากพื้นที่ แต่ขอเยียวยาที่ดินรายละ 5 ไร่ ซึ่งต้องไม่อยู่ห่างไกลจากที่เดิม จึงเป็นประเด็นว่า ส.ป.ก.จะทำอย่างไรดีจะเยียวยาได้ทันท่วงที ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลไทยบุรีและอำเภอท่าศาลา จึงนึกขึ้นมาได้ว่ากระทรวงมหาดไทยเคยอนุมัติให้มหาวิทยาลัยใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่เรียกว่า แปลงหมายเลข 4 จำนวน 700 ไร่ ให้กับมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการศึกษา แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้นำไปปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน ดังนั้นจึงต้องมีการเจรจากับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เพื่อขอที่ดินดังกล่าวมาประมาณ 300 ไร่เศษ เพื่อให้ ส.ป.ก.เอามาจัดสรรเยียวยาให้กับ 27 ครอบครัวดังกล่าว จำนวน 135 ไร่ ส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้เป็นสำรอง

         คดีที่สอง ที่รัฐแพ้คดี กรณีที่ราษฎร 3 ราย ยื่นฟ้องส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้หลวงแพ้คดี เนื่องจาก ส.ป.ก.ไปจัดสรรที่ดินที่ราษฎรทั้ง 3 ราย ดังกล่าวเคยมี ส.ค.1 มาก่อน ต้องคืนที่ดินให้ 3 รายนี้ เกือบ 100 ไร่ ซึ่ง ส.ป.ก.ได้ไปจัด สรร ที่ดินให้ราษฎรในแปลงที่หลวงแพ้คดีแล้ว จึงต้องไปจัดหาที่ดินแปลงใหม่ให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิ์ไปก่อนแล้ว เพื่อคืนที่ดินดังกล่าวให้กับราษฎรทั้ง 3 รายที่ชนะคดี ซึ่งต้องจัดสรรที่ดินใหม่รายละ 5 ไร่ให้กับผู้ที่ต้องเคลื่อนย้ายออกจากที่ดินแปลงที่ราษฎรชนะคดี โดยใช้ที่ดินส่วนที่เหลือจากการจัดสรรให้ราษฎร 27 ราย จำนวน 135 ไร่ ซึ่งเหลืออยู่ 100 กว่าไร่ หากได้ตามที่คิดไว้ก็จะลงล็อกพอดี ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ว่าจะยินยอมไหม หากสำเร็จจะวินวินด้วยกัน จึงจำเป็นต้องหารือกับ ส.ป.ก. และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อชี้แจงสร้างความกระจ่างให้กับพี่น้องประชาชน

          ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาต่อไปที่ตนต้องเร่งแก้ไขคือ ปัญหาสุขภาพของพี่น้องประชาชน ซึ่งจากการที่ได้ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลพบว่า มีผู้ป่วยจำนวนมากที่เป็นโรคหอบหืด ภูมิแพ้ จากการสอบถามพบว่าส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม มีการเผาวัชพืช เศษวัสดุทางการเกษตร ซึ่งจะได้พูดคุยกับสาธารณสุขจังหวัด และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป..//////////

ธีรศักดิ์ อักษรกูล รายงาน

error: Content is protected !!