“ศุภมาส” บรรยายพิเศษ “โอกาสและอนาคตการศึกษาวิจัยและนวัตกรรม” ให้นักเรียนทุนกระทรวง (อว.) และนักวิจัยที่สหราชอาณาจักร ย้ำต้องให้ความสำคัญกับงานวิจัยที่เป็นเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging Technology) เพราะเป็นเรื่องของอนาคตที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนโดยตรง ดึงนักเรียนทุนและนักวิจัยกลับมาร่วมขับเคลื่อนประเทศ
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2566 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เดินทางมาบรรยายพิเศษเรื่อง “โอกาสและอนาคตการศึกษาวิจัยและนวัตกรรม” ณ สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในสหราชอาณาจักร โดยมีนักศึกษาและนักวิจัยของประเทศไทยที่ได้รับทุนมาศึกษาและทำวิจัยจากหลายสถาบันเข้าร่วมรับฟัง
โดยนางสาวศุภมาสฯ กล่าวว่า นักเรียนทุนและนักวิจัยในสหราชอาณาจักรทุกคนอยู่ในกลุ่มของผู้เรียนเพื่อความเป็นเลิศ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนางานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทยรวมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวหน้าด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สิ่งที่ตนอยากจะเน้นย้ำและอยากให้นักเรียนทุนและนักวิจัยให้ความสำคัญคืองานวิจัยที่เป็นเทคโนโลยีอุบัติใหม่ (Emerging Technology) เช่น เทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology) หรือที่กระทรวง อว.กำลังขับเคลื่อน คือการส่งดาวเทียมธีออส – 2 หรือโครงการระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนาขึ้นไปในวงโคจร ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูง แต่เป็นการลงทุนเพื่ออนาคต ซึ่งจะได้ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจกลับมา นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเรื่องที่กระทรวง (อว.) ให้ความสำคัญเพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนโดยตรง อาทิ ความเป็นกลางทางคาร์บอน, หุ่นยนต์, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และพลังงาน เป็นต้น
รมว.กระทรวง (อว.) กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของอุดมศึกษา ตนให้ความสำคัญกับเรื่อง “เรียนดี มีความสุข มีรายได้” และ “วิจัย นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการ” ดังนั้นนโยบายที่ได้ดำเนินการคือการจัดการเรียนการสอนแบบตามใจผู้เรียน ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางรวมทั้งอำนวยความสะดวกและเพิ่มโอกาสให้กับคนไทยได้เข้าถึงการศึกษามากขึ้น อาทิ การยกเลิกการเก็บค่าสอบ TCAS เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เป็นต้น “ดิฉันอยากให้นักเรียนทุนและนักวิจัยกลับมาร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน” นางสาวศุภมาสฯ กล่าว
จากนั้นนางสาวศุภมาสฯ ได้เปิดโอกาสให้นักเรียนไทยและนักวิจัยได้ซักถามและแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นกันเอง ซึ่งได้รับความสนใจนักเรียนไทยเป็นอย่างมาก โดยนายปพน สุสิกขโกศล นักเรียนทุน (อว.) สาขาฟิสิกส์ ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญงานวิจัยว่า “งานวิจัยพื้นฐานเป็นความรู้สำคัญที่เมื่อสะสมเป็นอย่างดีแล้วก็จะสามารถสร้างนวัตกรรมที่ล้ำค่าได้ จึงอยากให้กระทรวง (อว.) ให้ความสำคัญกับงานวิจัยพื้นฐานควบคู่กับการวิจัยต่อยอดเชิงพาณิชย์” ขณะที่นายกฤษฎา คทาวุธพูนพันธ์ นักเรียนทุน (อว.) สาขาวิทยาศาสตร์พันธุกรรม กล่าวว่า “ตนเรียนด้านวิทยาศาสตร์ สนใจเรื่องการค้นพบสิ่งใหม่ ซึ่งสำคัญมากเพราะทำให้เกิดทฤษฎีทางวิวัฒนาการ ที่สำคัญต่อมนุษยชาติมาก ดังนั้นอยากให้กระทรวง (อว.) มีกลไกในการพิจารณาและการระบุความสำคัญของวิทยาศาสตร์ในแต่ละสาขา”
ด้านนายปฐวี จินตนา นักเรียนทุน (อว.) สาขาวิศวกรรมเครื่องกล ได้สอบถามเกี่ยวกับกลไกในการพัฒนาระบบการจัดสอบเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศไทย และ แนวทางในการยกระดับหลักสูตรอุดมศึกษาไทยให้สามารถดึงนักศึกษาต่างชาติกลุ่ม CLMV เข้ามาเรียนในประเทศไทยเรามากขึ้น ขณะที่นางสาวจิดาภา คู่วิโรจน์ นักเรียนทุนธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในมุมมองของสังคมศาสตร์และอยากเห็นนโยบายการเพิ่มนักวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ และแนวทางการสนับสนุน ส่วนนายโชติวัฒน์ จันทรเกษม นักเรียนทุนราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวว่า “อยากเห็นแนวทางการบริหารจัดการนักวิจัยหรืออาจารย์ที่จบปริญญาเอกจากต่างประเทศที่ชัดเจน เพื่อให้นักวิจัยได้ทำวิจัยได้เต็มที่” เป็นต้น
โดนนางสาวศุภมาสฯ ได้ตอบทุกคำถามรวมทั้งให้ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) ร่วมตอบข้อซักถามและให้ข้อคิดเห็นในประเด็นนักเรียนทุนให้ความสนใจเพิ่มเติม พร้อมรับข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ โดยมีการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับงานทางด้านการศึกษา งานวิจัย ทั้งประเภทเทคโนโลยยีสำหรับอนาคต เทคโนโลยีขั้นสูง และงานวิจัยพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนและสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้ประเทศไทยสามารถทำงานวิจัยที่สามารถแข่งขันกับนานาประเทศ
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน