ข่าวใหม่อัพเดท » รักษาการอธิบดี DSI เร่งปราบปรามบริษัทต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ล่าสุดสั่งฟ้อง 2 คดี ส่งพนักงานอัยการ

รักษาการอธิบดี DSI เร่งปราบปรามบริษัทต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ล่าสุดสั่งฟ้อง 2 คดี ส่งพนักงานอัยการ

26 ธันวาคม 2023
0

รักษาการอธิบดี DSI เร่งปราบปรามบริษัทต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ล่าสุดสั่งฟ้อง 2 คดี ส่งพนักงานอัยการ

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม 2566 ภายใต้การอำนวยการของ นายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ ผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง นายวรพจน์ ไม้หอม รองผู้อำนวยการกองคดีความมั่นคง ได้มอบหมายให้ ร้อยตำรวจโทเสฎฐวุฒิ สายป้อง ผู้อำนวยการส่วนคดีความมั่นคง 2 และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีความมั่นคง กรมสอบสวนคดีพิเศษ นำสำนวนการสอบสวนการสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมตัวผู้ถูกกล่าวหา ส่งพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินการ จำนวน 2 คดี ประกอบด้วย

1.คดีพิเศษที่ 38/2564 กรณีกล่าวหาว่า บริษัท ลีฟ ลัคกี้ จำกัด โดยนางสาวออคซาน่า (สงวนนามสกุล) กรรมการผู้มีอำนาจ ในฐานะผู้แทนนิติบุคคล และนายเดวิด (สงวนนามสกุล)ในฐานะส่วนตัว รวม 2 คน กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 การสอบสวนมีพยานหลักฐานพอฟ้องว่ามีความผิดฐาน “เป็นคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นคนต่างด้าวยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าว ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่คนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามกฎหมาย“ และ“เป็นกรรมการ หุ้นส่วน หรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดของนิติบุคคล หรือมิได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้น”

2.คดีพิเศษที่ 39/2564 กรณีกล่าวหาว่า บริษัท ซันนี่ วิวส์ จำกัด โดย นางสาวอิรินะ (สงวนนามสกุล) กรรมการผู้มีอำนาจ ในฐานะผู้แทนนิติบุคคล นายโยสซี่ (สงวนนามสกุล) กรรมการบริษัท ในฐานะส่วนตัว และนางสาวอิรินะ (สงวนนามสกุล) กรรมการผู้มีอำนาจ ในฐานะผู้แทนนิติบุคคล รวม 3 คน กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 การสอบสวนมีพยานหลักฐานพอฟ้องว่ามีความผิดฐาน “เป็นคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นคนต่างด้าว ยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าว ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่คนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามกฎหมาย” ฐาน “เป็นกรรมการ หุ้นส่วน หรือ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำความผิดของนิติบุคคล หรือมิได้จัดการตามสมควรเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดนั้น”และฐาน “เป็นคนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นคนต่างด้าวยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่มิใช่คนต่างด้าว ให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนหรือร่วมประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว อันเป็นธุรกิจที่คนต่างด้าวนั้นมิได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามกฎหมาย”

ที่มาของทั้งสองคดีสืบเนื่องมาจาก กองคดีความมั่นคงมีการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษที่ 7/2561 กรณีมีบริษัทที่ปรึกษากฎหมายสำนักงานตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายมาคัส (สงวนนามสกุล) สัญชาติอังกฤษ และนายพอล (สงวนนามสกุล) สัญชาติสหรัฐอเมริกา เป็นผู้บริหาร มีพฤติการณ์จัดให้ลูกจ้างซึ่งเป็นคนไทยเป็นตัวแทนอำพราง ก่อตั้งบริษัท ซันนี่ ชอร์ส พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด แล้วนำบริษัทดังกล่าวเข้าไปถือครองหุ้นในบริษัทต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต ในฐานะสัดส่วนของผู้ถือหุ้นที่เป็นสัญชาติไทย เพื่อประกอบธุรกิจการค้าที่ดินให้กับชาวต่างชาติ และเมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาซื้อที่ดินของบริษัทเหล่านั้นถือครองอยู่ก็จะดำเนินการจำหน่ายหรือขายหุ้นของตนเองหรือปิดบริษัทเดิม เพื่อให้ลูกค้าซึ่งเป็นชาวต่างชาติเข้ามายึดถือและครอบครองต่อไป โดยผลประโยชน์ที่ได้รับจากการซื้อขายที่ดินดังกล่าวจะตกอยู่แก่บุคคลต่างด้าวข้างต้น มิได้ตกอยู่แก่บริษัท ซันนี่ ชอร์ส พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือผู้ที่เป็นผู้ถือหุ้นคนไทยแต่อย่างใด ซึ่งสอบสวนจนเสร็จสิ้น และเสนอสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว โดยศาลอาญาได้พิพากษาลงโทษบริษัท ซันนี่ ชอร์ส พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัดกับพวกแล้ว และต่อมาพนักงานอัยการได้แนะนำให้พนักงานสอบสวนคดีพิเศษดำเนินคดีกับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง จนเป็นที่มาของคดีพิเศษทั้งสองคดีนี้

กรมสอบสวนคดีพิเศษขอขอบคุณประชาชนที่ช่วยในการแจ้งเบาะแสด้วยดีมาโดยตลอดและหากประชาชนยังมีข้อมูลหรือทราบเบาะแสในกรณีดังกล่าว หรือการกระทำความผิดอื่น สามารถแจ้งข้อมูล/เบาะแส ได้ที่สายด่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ โทร. 1202 โทร.ฟรีทั่วประเทศ หรือเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th “การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว เป็นเรื่องสำคัญ และกระทบต่อความมั่นคงรวมทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศ จึงเป็นนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงยุติธรรม รวมทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในการปราบปรามอย่างจริงจัง” พันตำรวจตรียุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าว


สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

error: Content is protected !!