อว. ผนึก 6 หน่วยงาน พัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา
เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2567 : ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 2 อาคาร 1 ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนม พรรษา ครบ 72 พรรษา โดยมีศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช, นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รมว. สาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย (มท.), นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาราชการเลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ร่วมลงนาม ทั้งนี้มีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง (อว.),นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.กระทรวง (อว.) และ นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนและพัฒนาการอุดมศึกษาฯ สำนักงานปลัดกระทรวง (อว.) เข้าร่วมพิธีด้วย
นางสาวศุภมาสฯ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 72 พรรษา เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง กระทรวง (อว.),กระทรวงสาธารณสุข,มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช,กระทรวงมหาดไทย,กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยกระทรวง (อว.) มีหน้าที่หลักในการสนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการ นวัตกรรม งานวิจัยการพัฒนาระบบบริการโรคหลอดเลือดสมองแบบครบวงจร รถวินิจฉัยและรักษาภาวะวิกฤติทางหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit (MSU))
ซึ่งภายในรถดังกล่าว จะเต็มไปด้วยอุปกรณ์การแพทย์สำหรับการช่วยชีวิตขั้นสูงอย่างครบครัน สามารถประเมินและวางแผนให้การรักษาอย่างแม่นยำและทันการณ์ เพื่อพร้อมสำหรับดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้มากที่สุด ระบบเครือข่ายให้คำปรึกษา และทุนวิจัยรวมทั้งให้การช่วยเหลือด้านอื่นๆ ที่จำเป็น ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านโรคหลอดเลือดสมองที่ได้มาตรฐาน ลดอัตราความพิการและอัตราตายจากโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันของเขตสุขภาพ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการรักษาที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เพิ่มความปลอดภัย ลดการเสียชีวิต และลดภาวะทุพพลภาพ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนไทยอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน