วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน เชิญร่วมงาน “เกษตรนวัตกรรม อารยธรรมล้านนา อาชีวะเกษตรแฟร์” ระดับชาติ ครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 24-28 มกราคม 2567
วันนี้ 15 มกราคม 2567 ที่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มอบหมายให้ นายโยธิน ประสงค์ความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ร่วมแถลงข่าว งาน “เกษตรนวัตกรรม อารยธรรมล้านนา อาชีวะเกษตรแฟร์” ระดับชาติ ครั้งที่ 44 ที่จะจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 24 – 28 มกราคม 2567 ณ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน โดยมีนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา นายศิริพงศ์ เมียนเพ็ชร ประธานคณะกรรมการอำนวยการ อกท. ระดับชาติ นายจักรกฤษณ์ ทิพเลิศ ประธานการจัดงาน อกท.ระดับชาติ ร่วมแถลงข่าว นอกจากนั้น ยังมีหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู นักศึกษา ตลอดจนสื่อมวลชน เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
โดยในวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อเป็นองค์ประธานเปิดงานการประชุมวิชาการ องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่ง ประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ระดับชาติครั้งที่ 44 โดยจะเป็นองค์ประธานเปิดการประชุมวิชาการ อกท.ระดับชาติ และพระราชทานโล่ให้กับหน่วย อกท.ดีเด่นระดับชาติ สมาชิก อกท.ดีเด่นระดับชาติ ศิษย์เก่า อกท.ดีเด่นระดับชาติ เข็มที่ระลึกผู้ทำคุณประโยชน์และสมทบทุนมูลนิธิ จากนั้น จะทอดพระเนตรกิจกรรม อกท. และรับฟังการสัมมนาผลงานทางวิชาการ ของสมาชิก อกท. ทรงปลูกต้นไม้ ชื่อ ต้นคำมอกหลวง (Gardenia sootepensis) โดยจะมีการถ่ายทอดสด พิธีเปิดการประชุมวิชาการ อกท.ครั้งที่ 44 ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย NBT แพร่ภาพออกอากาศทั่วประเทศในวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 นี้ด้วย
องค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์การของนักศึกษาที่ดำเนินการโดยนักศึกษา เพื่อนักศึกษาและโดยนักศึกษา โดยในแต่ ละปีได้กำหนดให้มี การจัดงานประชุมวิชาการองค์การเกษตรกรในอนาคตแห่งประเทศไทย ใน ระดับชาติ ปีละหนึ่งครั้ง และดำเนินกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากระดับหน่วย คือแต่ละวิทยาลัยได้จัดกิจกรรมดังกล่าว และคัดเลือกตัวแทนมาแข่งขันและเข้าร่วมในระดับภาค ซึ่งมี 4 ภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ทำการเฟ้นหาผู้ชนะเลิศในการนำเสนอผลงานวิชาการ ทักษะวิชาชีพ สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ตลอดจนการประกวดแข่งขันต่างๆ จนเป็นตัวแทนระดับภาค และมาร่วมแข่งขันในระดับชาติ โดยสถานที่ในการจัดงานจะหมุนเวียนไปแต่ละภูมิภาค จวบจนปัจจุบัน เป็นครั้งที่ 44 โดยในครั้งแรก ได้จัดงานประชุมวิชาการระดับชาติขึ้นที่ วิทยาลัยเกษตรกรรมศรีสะเกษ เมื่อปี พ.ศ.2523 และได้ดำเนินต่อเนื่องมาทุกปี และการประชุม วิชาการ อกท.ระดับชาติครั้งที่ 4 ในปี พ.ศ. 2530 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุด มิได้ จากในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นองค์ประธานเปิดงานประชุมวิชาการระดับชาติ ณ วิทยาลัยเกษตรกรรม นครสวรรค์ และต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นองค์อุปถัมภ์และทรงเปิดงานประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 11 ในปี พ.ศ. 2533 ณ วิทยาลัย เกษตรกรรมอุดรธานี เป็นต้นมา และเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานจวบจนปัจจุบัน
ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ
- การแข่งขันทักษะทางวิชาชีพ มีการแข่งขันทักษะ 8 สาขาวิชา ทักษะสาขาพืชศาสตร์ จำนวน 5 ทักษะ ประกอบด้วย ทักษะพืชผัก, ทักษะพืชไร่, ทักษะ ไม้ผล, ทักษะไม้ดอกไม้ประดับ, ทักษะการเพาะเห็ด ทักษะสาขาสัตวศาสตร์ จํานวน 5 ทักษะ ประกอบด้วย ทักษะไก่ไข่, ทักษะสุกร,ทักษะ โคเนื้อ, ทักษะโคนม และทักษะผสมเทียมโค ทักษะสาขาช่างกลเกษตร จำนวน 6 ทักษะ ประกอบด้วย ทักษะช่างก่อสร้าง, ทักษะ ช่างยนต์, ทักษะช่างไฟฟ้า, ทักษะช่างเชื่อม, ทักษะช่างสำรวจ, ทักษะแทรกเตอร์ล้อยาง, ทักษะรถขุด และทักษะอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ทักษะสาขาประมง จำนวน 3 ทักษะ ประกอบด้วย ทักษะผสมเทียมปลา, ทักษะพื้นฐาน การประมง และทักษะวิเคราะห์คุณภาพน้ำ ทักษะสาขาศิลปะเกษตร จำนวน 7 ทักษะ ประกอบด้วย ทักษะการจัดสวนหย่อม, ทักษะ การจัดสวนถาด, ทักษะการจัดดอกไม้, ทักษะสวนตู้กระจก, ทักษะการจัดสวนในภาชนะแก้วใส, ทักษะการจัดสวนตู้ปลา ทักษะสาขาอุตสาหกรรมเกษตร จำนวน 4 ทักษะ ประกอบด้วย ทักษะการผลิตน้ำผักผลไม้, ทักษะการผลิตไส้กรอกจากเนื้อสัตว์, ทักษะการผลิตน้ำนมจากพืช และทักษะการผลิตลูกชิ้นไก่ ทักษะสาขาบริหารธุรกิจ จำนวน 6 ทักษะ ประกอบด้วย ทักษะการสร้างและนำเสนอ ผลงาน, ทักษะตารางคำนวณ, ทักษะการเขียนและนำเสนอแผนธุรกิจเกษตร, ทักษะการสร้างสื่อ สิ่งพิมพ์, ทักษะบัญชีฟาร์มโดยใช้โปรแกรม และทักษะพิมพ์ดีดด้วยคอมพิวเตอร์ และ ทักษะสาขาพื้นฐาน จำนวน 3 ทักษะ ประกอบด้วย ทักษะสาธิตทางวิชาชีพ, ทักษะการพูด ในที่ชุมชน และทักษะการพูดภาษาอังกฤษในโอกาสต่างๆ
- การจัดนิทรรศการทางการเกษตรของหน่วย อกท. ประกอบด้วย การจัดนิทรรศการทางการเกษตรของหน่วย อกท.เป็นการแสดงผลงานทางด้านการเกษตร ของหน่วยตัวแทน อกท.ทั้งหมด 4 ภาค จำนวนทั้งสิ้น 12 หน่วย
- การประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ โดยคัดเลือกผลงานสิ่งประดิษฐ์จาก หน่วย อกท. ทั้ง 4 ภาค ประกอบด้วย ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต, ด้านการประกอบอาชีพ, ด้านผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป, ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม, ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร และด้านเทคโนโลยีการเกษตร
- การประกวดการแสดงนันทนาการ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาไทย ของนักศึกษาสมาชิก อกท. ทั้ง 4 ภาค ประกอบด้วย การประกวดโคบาล และขวัญใจโคบาล, การประกวดร้องเพลงลูกทุ่งชายหญิง, การประกวดวงดนตรีโฟล์กซอง, การประกวดนันทนาการ, การประกวดส้มตำลีลา, การแข่งขันไก่อบฟาง, การประกวด มิส FFT
นที มีเดช