สุพรรณบุรี – เดินหน้าแก้ปัญหา PM2.5 ส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร
วันที่ 1 ก.พ.2567 นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นประธานเปิดงานสาธิตทดแทนการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรภายใต้โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ที่แปลงสาธิต บ้านมาบพะยอม หมู่ที่ 5 ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี โดยมีนายวสันต์ จี้ปูคำ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวรายงานวัตถุ ประสงค์มีเกษตรอำเภอทั้ง 10 อำเภอ มีนางสาวธัญญารัตน์ กาญจนรัตน์ นายอำเภอหนองหญ้าไซ หัวหน้าส่วนราชการภาครัฐภาคเอกชน ประชาชน แลพเกษตรกรเข้าร่วมกิจกรรม
นายวสันต์ จี้ปูคำ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การสาธิตทดแทนการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร” ภายใต้โครงการส่งเสริม การหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2567 ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพตรงจุด ทันต่อสถานการณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนจุดความร้อน(hotspots) ในพื้นที่เกษตร เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้เล็งเห็นความสำคัญ และกำหนดจัดงาน “สาธิตทดแทนการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร” ภายใต้โครงการส่งเสริม การหยุดเผาในพื้นที่เกษตร ปี 2567 ที่แปลงสาธิต บ้านมาบพะยอม หมู่ที่ 5 ตำบลหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี
โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่การเกษตร และนำเสนอทางเลือกการใช้ประโยชน์จากเศษวัสดุทางการเกษตรและเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา, เพื่อเกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่ “การทำการเกษตรปลอดการเผา” และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดการเผาในพื้นที่เกษตร มีกิจกรรมสาธิตที่ การส่งเสริมการใช้รถตัดอ้อยสด และการม้วน ใบอ้อยขาย ไม่เผาใบอ้อย, เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อน จากการเผาอ้อย ละถ่ายทอดความรู้และสาธิตการใช้เครื่องจักรกลไร้คนขับ สาธิตการใช้เครื่องกวาดรวมกอง และเครื่องอัดใบอ้อย แบบก้อนกลม โดย ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร
ด้านนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า การสาธิตทดแทนการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เป็นการสร้างเสริมความรู้และความเข้าใจของเกษตรกรให้ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบ จากการเผาในพื้นที่เกษตร รวมถึงเป็น การเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรกรเพื่อให้สามารถลดปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตร ด้วยการใช้เทคโนโลยีการจัดการ เศษวัสดุทางการเกษตร ทดแทนการเผา อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถทำการเกษตรอย่างยั่งยืน การจัดงานสาธิตในวันนี้ นับว่าเป็นการถ่ายทอดความรู้ สาธิตให้เกษตรกรได้เห็นจริงและปฏิบัติจริง โดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้นำองค์ความรู้มาถ่ายทอด ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี คาดหวังว่า หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมสาธิต ทุกท่านสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ และปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตไปสู่ “การทำการเกษตรปลอดการเผา” และเป็นการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นโอกาสอันดี ของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ได้มาร่วมสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาร่วมกัน
ภัทรพล พรมพัก สุพรรณบุรี