ข่าวใหม่อัพเดท » 15 ผลงานเด่นระดับอุดมศึกษา รับรางวัลติดดาว ในกิจกรรมบ่มเพาะเสริมสมรรถนะด้านการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม

15 ผลงานเด่นระดับอุดมศึกษา รับรางวัลติดดาว ในกิจกรรมบ่มเพาะเสริมสมรรถนะด้านการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม

3 กุมภาพันธ์ 2024
0

15 ผลงานเด่นระดับอุดมศึกษารับรางวัลติดดาว ในกิจกรรมบ่มเพาะเสริมสมรรถนะด้านการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา: บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม โดยมี ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) เป็นประธานและกล่าวแสดงความยินดีในการมอบรางวัลกิจกรรมติดดาวและเกียรติบัตรให้แก่ผู้เข้าร่วมการบ่มเพาะ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า กิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา: บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ประจำปี 2567 ได้รับการตอบรับจาก นิสิต นักศึกษาและอาจารย์ที่ปรึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาในการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก กิจกรรมมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทักษะและเทคนิคในด้านการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรม ให้สามารถสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนางานประดิษฐ์ที่ได้มาตรฐานตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต

สำหรับรางวัลติดดาว ผลงานการนำเสนอได้อย่างโดดเด่นจำนวน 15 ผลงาน ใน 5 กลุ่มเรื่อง ได้แก่

กลุ่ม 1 ด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
1.เครื่องคัดแยกไข่อัตโนมัติด้วยการเรียนรู้ของเครื่อง จาก มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (รางวัลระดับ 3 ดาว)
2.ผลิตภัณฑ์ชีวภาพจากแบคเทอริโอเฟจเพื่อป้องกันโรคจาก Avian Pathogenic Escherichia coli ในอุตสาหกรรมสัตว์ปีก จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (รางวัลระดับ 4 ดาว)
3.การพัฒนาสูตรอาหารเพื่อการผลิตปลาทองสิงห์ดำคุณภาพสูง จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (รางวัลระดับ 4 ดาว)

กลุ่มที่ 2 ด้านการสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์
4.สเปรย์สมุนไพรพ่นช่องปากและลำคอ นาโนเฮิร์บ เอกซ์ตร้าเฟรซ ออรัล สเปรย์จาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (รางวัลระดับ 3 ดาว)
5.การพัฒนาโปรแกรมวิเคราะห์และแปลผลข้อมูลการเดินในผู้ที่สวมใส่ขาเทียม จาก มหาวิทยาลัยมหิดล (รางวัลระดับ 4 ดาว)
6.นวัตกรรมโครงเลี้ยงเซลล์จากสารเคลือบเซลล์สำหรับพัฒนาเนื้อเยื่อทดแทน จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รางวัลระดับ 5 ดาว)

กลุ่มที่ 3 การพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์อัจฉริยะ

  1. Pill box ST จาก มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (รางวัลระดับ 3 ดาว)
    8.เครื่องตรวจจับคาร์บอนจากรถบรรทุก จาก สถาบันเทคโนโลยีไทย – ญี่ปุ่น (รางวัลระดับ 3 ดาว)
    9.ระบบการวิเคราะห์และติดตามการเติบโตของโคเนื้อพันธุ์โคราชวากิว ด้วยการเรียนรู้เชิงลึก จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา (รางวัลระดับ 4 ดาว)

กลุ่ม 4 พลังงาน สิ่งแวดล้อม และ BCG Economy Model
10.การออกแบบและพัฒนาระบบดึงสาระสำคัญและฆ่าเชื้อราในสมุนไพรคุณภาพสูง (กัญชา) โดยใช้เทคโนโลยีคลื่นความถี่สูง จาก มหาวิทยาลัยพายัพ (รางวัลระดับ 3 ดาว)
11.ชุดปั่นจักรยานผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยกลไกไทรโบอิเล็กทริก-เทอร์โมอิเล็กทริกคู่ควบ จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (รางวัลระดับ 4 ดาว)
12.การออกแบบชุดอุปกรณ์ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากน้ำฝนด้วยกลไกไทรโบอิเล็กทริกสำหรับขับเคลื่อนไฟส่องสว่าง จาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (รางวัลระดับ 5 ดาว)

กลุ่มที่ 5 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
13.ของเล่นการเรียนรู้มรดกวัฒนธรรมเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (รางวัลระดับ 3 ดาว)
14.Transink เส้นทางท่องเที่ยวและแอปพลิเคชันอัจฉริยะสำหรับการท่องเที่ยวรอบเส้นทางรถไฟฟ้า Airport Rail Link จาก สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (รางวัลระดับ 4 ดาว)
15.เลน้อยคราฟ : กลวิธีแก้จนด้วยนวัตกรรมเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนระดับพื้นที่ ชุมชนทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง จาก มหาวิทยาลัยทักษิณ (รางวัลระดับ 5 ดาว)

ทั้งนี้ กิจกรรมการเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานบุคลากรอุดมศึกษา: บ่มเพาะและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ได้วางเป้าหมายให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นกลไกสำคัญ ที่จะพัฒนาสมรรถนะและเทคนิคด้านการประดิษฐ์คิดค้นและนวัตกรรมของคณาจารย์และนิสิตนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้สามารถพัฒนาผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์และความต้องการของประเทศต่อไป


สุรเชษ รายงาน

error: Content is protected !!