“รมว.ศุภมาส” แถลง วศ.อว. นำไทยสู่อันดับ 5 ของโลกด้านการรับรองความสามารถผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการ สร้างความเชื่อมั่นระบบประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ นำสินค้าไทยสู่สากล
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยที่กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง (อว.) ได้รับการรับรองเป็นหน่วยงานเดียวในนามประเทศ ไทยที่ได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ (International Laboratory Accreditation Cooperation Mutual Recognition Arrangement, ILAC MRA) ในการรับรองความสามารถผู้จัดโปรแกรมทดสอบความชำนาญห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน ISO/IEC 17043 ได้คุณภาพมาตรฐาน เป็นอันดับที่ 5 ของโลกในปี พ.ศ.2567
รมว.อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาการรับรองความสามารถผู้จัดโปรแกรมฯ ให้ได้รับการยอมรับอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามนโยบายของกระทรวง อว. ซึ่งมุ่งเน้นในด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คือ “วิทยาศาสตร์-วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” และ “เน้นประเด็นสำคัญของประเทศด้านความยั่งยืน (Sustainabilty) มุ่งพัฒนาความสามารถและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันที่ยั่งยืนในทางการค้าการลงทุนสนับสนุนการส่งออก และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในการประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการของประเทศไทยทั้งด้านการทดสอบ สอบเทียบ และด้านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพบริการทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เมื่อการประเมินคุณภาพจากภายนอกของการตรวจวิเคราะห์ทางด้านวิทยาศาสตร์ (External Quality Assessment, EQA) ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นเป็นที่ยอมรับแก่ หน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน ที่นำผลการวิเคราะห์ไปใช้ ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยกำกับดูแลทางกฎหมาย มีความเชื่อมั่นในข้อมูลที่ใช้เป็นพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์หรือตัดสินใจที่สำคัญของประเทศได้
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง (อว.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การประเมินคุณภาพจากภายนอก (External Quality Assessment, EQA) หรือการทดสอบความชำนาญ (Proficiency Testing, PT) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ที่มาตรฐานสากลหรือมาตรฐานระดับนานาชาติ ได้กำหนดให้ห้องปฏิบัติการ และห้องปฏิบัติการทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ โดยที่ กรม (วศ.) ได้เข้าร่วมการประเมิน เพื่อเป็นการประกันคุณภาพของห้องปฏิบัติการ ซึ่งเป็นการบ่งชี้คุณภาพและมาตรฐานของระบบและบุคลากร และได้ใช้ผลการประเมินในการเฝ้าระวังสมรรถนะของการตรวจวิเคราะห์ แสดงถึงความสามารถอย่างต่อเนื่องของห้องปฏิบัติการ ทำให้ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการมีความน่าเชื่อถือ ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานสากล เกิดความเชื่อมั่นเป็นที่ยอมรับแก่ผู้ใช้บริการ เช่น หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนเกิดความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า ทั้งนี้ กรม (วศ.) มุ่งมั่นพัฒนาระบบห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืนตลอดไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน