วันนี้ (16 ตุลาคม 2562) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2562 โดยมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย
ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าและข้อจำกัดของการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สืบเนื่องจากพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 41 กำหนดให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) จัดให้มีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยในมาตรา 42 บัญญัติให้ คสช. แต่งตั้งคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เพื่อทำหน้าที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และมาตรา 45 กำหนดให้ในกรณีที่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีข้อเสนอให้หน่วยงานของรัฐนำไปปฏิบัติหรือนำไปพิจารณาประกอบในการกำหนดนโยบายเพื่อสุขภาพ โดยเสนอต่อ คสช. พิจารณาแล้วนั้น เพื่อให้การติดตามผลการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นระบบและมีความต่อเนื่องในการประชุม คสช. ครั้งที่ 4/2562 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในฐานะองค์กรเลขานุการ ได้เสนอ คสช. พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงามตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ควบคู่ขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาระบบการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติฯ มาอย่างต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบสติสมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยนโยบายรองรับสังคมสูงวัย 4 มิติ ประกอบด้วย 1) การออมเพื่อสังคมสูงวัย มุ่งเน้นการนำเสนอเรื่องการออมหลากหลายรูปแบบ คือการออมด้วยการปลูกไม้ยืนต้น จัดตั้งองค์กรส่งเสริมการปลูกไม้เพื่อการออม โดยรับรองให้ไม้ดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์ในการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น การประกันตัว การกู้ยืม เป็นต้น 2) การเสริมสร้างศักยภาพและการจัดการของชมรมผู้สูงอายุ เน้นการเสริมสร้างศักยภาพและชมรมผู้สูงอายุ การรวมกลุ่มทำให้เกิดการทำกิจกรรมภายใต้การบริหารงานของผู้สูงอายุเองสามารถสนับสนุนผ่านพื้นที่กลางเพื่อให้เกิดการบูรณาการ 3) การปรับสภาพแวดล้อมรองรับสังคมสูงวัย ด้วย 1 ตำบล 1 ศูนย์อยู่ดี ซึ่งเป็นการนำร่องที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) ออกแบบ Universal Design Center ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของหลายภาคส่วนออกไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และ 4) ร่วมสร้างชุมชนรอบรู้สุขภาพและพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน เช่น ศาสนสถาน สถาบันการศึกษา หน่วยบริการสุขภาพ เข้ามาช่วยดูแลคนในชุมชน สร้างสหกรณ์ออมทรัพย์ ธนาคารเวลา สนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว รวมถึงการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพผ่านเครื่องมืออย่างสมัชชาสุขภาพพื้นที่ ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ ทั้งนี้ ประธานได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประสานกับองค์กรภาคีหลักดำเนินงานให้เกิดการขับเคลื่อนตามมติดังกล่าว โดยรับข้อเสนอจากที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการ รวมทั้งรวบรวมประเด็นและข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ขอบคุณเรื่องแนะนำจากกลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก