ข่าวใหม่อัพเดท » รมว. ธรรมนัส ลงพื้นที่ลพบุรี ขับเคลื่อนนโยบาย การเกษตรมอบโฉนด สปก. 4-01ให้เกษตรกร

รมว. ธรรมนัส ลงพื้นที่ลพบุรี ขับเคลื่อนนโยบาย การเกษตรมอบโฉนด สปก. 4-01ให้เกษตรกร

22 กุมภาพันธ์ 2024
0

จังหวัดลพบุรี – รมว. ธรรมนัส ลงพื้นที่ลพบุรีขับเคลื่อนนโยบาย การเกษตรมอบโฉนด สปก. 4-01ให้เกษตรกร

เมื่อวันที่ 21 ก.พ.67 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรและสหกรณ์ ที่ อ่างเก็บน้ำกุดตาเพชร อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี เพื่อมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) เอกสารการทําประโยชน์ และการปรับปรุงบํารุงดิน ข้าวสาร พันธุ์ปลา และพันธุ์สัตว์น้ำอื่นๆ รวมถึงพันธุ์พืชให้แก่พี่น้องเกษตรกร พร้อมมอบโฉนดเพื่อการเกษตร จาก สปก. 4-01 ให้แก่เกษตรกร โดยมีนายปรัชญา เปปะตัง รอง ผวจ.ลพบุรี, นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน, นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปผลการดำเนินงาน ณ อ่างเก็บน้ำกุดตาเพชร อำเภอลำสนธิ ลพบุรี

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า จังหวัดลพบุรีตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 4.06 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรประมาณ 2.84 ล้านไร่ ครัวเรือนเกษตรกรกว่า 3 แสน ครัวเรือน มีระบบชลประทานจากโครงการเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ครอบคลุมพื้นที่ 1.27 ล้านไร่ ซึ่งทำให้มีแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ และการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว, รองลงมา คือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน ไร่ และมันสำปะหลัง, ส่วนด้านปศุสัตว์ ไก่เนื้อ โคนม โคเนื้อ โดยมีมูลค่าการจำหน่ายสินค้าเกษตรมากที่สุด คือ ไก่เนื้อ มูลค่า 14,400 ล้านบาท นอกจากนี้จังหวัดลพบุรี ยังมีผลิตภัณฑ์มวลรวม GPP ภาคการเกษตร มูลค่า 17,775 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 16.15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม GPP จังหวัดลพบุรี

สำหรับอ่างเก็บน้ำกุดตาเพชร จังหวัดลพบุรี กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2547 เก็บกักน้ำได้ประมาณ 43 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาวะฝนแล้งบริเวณพื้นที่แม่น้ำป่าสัก ในเขตอำเภอชัยบาดาล รวมไปถึงกิ่งอำเภอลำสนธิเดิมอยู่ด้วย และแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำ ด้วยการปรับปรุงอาคารระบายน้ำล้นและติดตั้งฝายยางตลอดความยาวสันฝายเพื่อเพิ่มความจุเก็บกักน้ำแล้ว แต่จากปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน มักจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ขณะเดียวกันในช่วงฤดูฝน มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอ่างเก็บน้ำกุดตาเพชรยังไม่มีระบบส่งน้ำให้กับพื้นที่ด้ายท้ายอ่างฯ ทำให้ไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ

ซึ่งกรมชลประทาน จึงได้วางแผนปรับปรุงอ่างเก็บน้ำกุดตาเพชร เพื่อให้สามารถควบคุมและจัดสรรปริมาณน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยบรรเทาภัยแล้งและอุทกภัยในพื้นที่ ด้วยการก่อสร้างอาคารระบายน้ำล้นฉุกเฉิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของอ่างฯ จากเดิม 291 ลบ.ม. ต่อวินาที เป็น 346 ลบ.ม. ต่อวินาที พร้อมก่อสร้างระบบส่งน้ำทั้ง 2 ฝั่ง รวมความยาว 60.48 กิโลเมตร มีพื้นที่รับประโยชน์รวมกว่า 20,150 ไร่

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้สั่งการให้กรมชลประทาน เร่งดำเนินการก่อสร้างตามแผนงานในปี 2568 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝนและส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้งให้แก่ชาวลำสนธิ ได้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไป


กฤษณ์ สนใจ ลพบุรี 0890899090

error: Content is protected !!