พิธีวางกระดูกงูเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น. พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีวางกระดูกงูเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ ณ อู่ต่อเรือ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมด้วย คุณกีรตา พันธุ์เอี่ยม นายกสมาคมภริยาทหารเรือ โดยมี พลเรือโท ไพศาล ชะโนภาศ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ ให้การต้อนรับและกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดหาเรือในครั้งนี้
กองทัพเรือได้รับอนุมัติให้จัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ จำนวน 1 ลำ เพื่อทดแทนเรือหลวงสุริยะ ที่จะปลดระวางประจำการ เพื่อให้กองทัพเรือยังคงมีขีดความสามารถในการตรวจซ่อมเครื่องหมายทางเรือในน่านน้ำไทย สนับสนุนการสำรวจและรวบรวมข้อมูลทางด้านอุทกศาสตร์และสมุทรศาสตร์ สนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ส่งกำลังบำรุงให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ของ กองทัพเรือ ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลหรือในทะเล และสนับสนุนกิจอื่นๆตามที่ได้รับการร้องขอได้ตามความเหมาะสม
สำหรับเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ที่จัดให้มีพิธีวางกระดูกงูในวันนี้ มีคุณลักษณะเฉพาะที่สำคัญ คือ มีความยาวตลอดลำ 60 เมตร ความกว้างตัวเรือ 13.3 เมตร กินน้ำลึกเต็มที่ 3.05 เมตร ความเร็วสูงสุดต่อเนื่องที่ระวางขับน้ำเต็มที่ 13.1 นอต กำลังพลประจำเรือ 67 นาย ระยะปฏิบัติการ 2,400 ไมล์ทะเล สามารถสนับสนุนการสำรวจทางอุทกศาสตร์ให้เป็นไปตามมาตรฐานการสำรวจอุทกศาสตร์ชั้นพิเศษขององค์การอุทกศาสตร์สากล พร้อมเชื่อมต่อเข้ากับระบบ IBS ซึ่งเป็นสะพานเดินเรือแบบรวมการ มีการเชื่อมต่อเครื่องมืออุปกรณ์เดินเรืออิเล็กทรอนิกส์ในลักษณะของ Ethernet Network ตามมาตรฐานขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศหรือ IMO
โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้กล่าวเพื่อเป็นเกียรติในพิธี โดยมีใจความสำคัญระบุว่า “ตามที่กองทัพเรือได้ดำเนินการจัดหาเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ จำนวน 1 ลำ เพื่อทดแทน เรือหลวงสุริยะ ที่จะปลดระวางประจำการ โดยว่าจ้างบริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการสร้างเรือให้สามารถตอบสนองภารกิจของกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ได้สำเร็จเรียบร้อยมาตามลำดับจนถึงขั้นตอนที่สำคัญในวันนี้ คือ การวางกระดูกงูเรือ ซึ่งทางกองทัพเรือมีความเชื่อมั่นในขีดความสามารถและประสบการณ์ของ บริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) ว่าจะสามารถดำเนินการสร้างเรือปฏิบัติการอุทกศาสตร์ลำนี้ ให้ประสบผลสำเร็จลุล่วงด้วยดีทุกประการ”
พิธีวางกระดูกงูเรือนั้นถือว่าเป็นพิธีสำคัญพิธีแรกในการสร้างเรือ และได้ปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่สมัยโบราณ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 คำว่า “กระดูกงู” หมายถึง ตัวไม้หรือเหล็กที่ทอดตลอดลำเรือสำหรับตั้งกง ซึ่งพิธีวางกระดูกงูเรือของแต่ละชาติอาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละชาติ
สำหรับราชนาวีไทยพิธีวางกระดูกงูเรือ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเรือที่จะก่อให้เกิดความสวัสดีมีชัยและความวัฒนาถาวรให้แก่เรือ และยังถือว่าเป็นการอัญเชิญแม่ย่านางเรือให้เข้าสถิตแก่เรืออีกด้วย ซึ่งมีการประกอบพิธีวางกระดูกงูเรือมาตั้งแต่สมัยเรือรบที่สร้างตัวเรือด้วยไม้ ต่อมาได้เปลี่ยนการสร้างจากตัวเรือไม้มาเป็นตัวเรือเหล็ก โดยเรือรบที่สร้างด้วยเหล็กและมีการทำพิธีวางกระดูกงูเป็นครั้งแรกคือ เรือหลวงสัตหีบ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2499 โดยกรมอู่ทหารเรือเป็นผู้สร้าง ในพิธีก็จะประกอบไปด้วย พิธีทางศาสนาพุทธ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ พิธีพราหมณ์ประกอบการบูชาฤกษ์ การเจิมกระดูกงู คล้องพวงมาลัย แล้วทำพิธีวางกระดูกงู โดยใช้ค้อนตอกย้ำหมุดตัวแรกหรือกดปุ่มสวิตซ์ทำการประสานกระดูกงูด้วยไฟฟ้า เป็นต้น
กองทัพเรือ