สวทช. จัดประชุมวิชาการประจำปี ‘NAC2024’ ชูงานวิจัย BCG Implementation พลิกโฉมประเทศ
วันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) : ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค), ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) พร้อมด้วยทีมนักวิจัย (สวทช.) และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมงานแถลงข่าวการจัดการประชุมวิชาการประจำปี (สวทช.) ครั้งที่ 19 (19th NSTDA Annual Conference: NAC2024) ภายใต้แนวคิด “สานพลัง สร้างงานวิจัย พลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วย BCG Implementation” ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2567 ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโล ยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย (สวทช.) เป็น “ขุมพลังหลักของประเทศ” ในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนา “ระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม” ให้เข้มแข็ง ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยความเชี่ยวชาญและความสามารถของ (สวทช.) ที่จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ในวงกว้าง ผ่านแผนงาน BCG Implementation
“งานประชุมวิชาการประจำปี (สวทช.) (NSTDA Annual Conference: NAC) ในปีนี้ จึงได้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สานพลัง สร้างงานวิจัย พลิกโฉมเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วย BCG Implementation” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) และผลงานวิจัยพัฒนาที่ (สวทช.) ดำเนินการวิจัยเองและที่ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร โดยได้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนงาน BCG Implementation เพื่อตอบเป้าหมายหลักของแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ได้กำหนดไว้ใน 4 มิติ” ได้แก่ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม-เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ-เพิ่มการพึ่งพาตนเอง-สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยสู่ความยั่งยืน โดย (สวทช.) ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดการประชุมและทอดพระเนตรนิทรรศการวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. โดยสามารถติดตามรับชมการถ่ายสดผ่านสถานีวิทยุแห่งประเทศไทย NBT 2HD” ผู้อำนวยการ (สวทช.) กล่าว
ดร.สุธี ผู้เจริญชนะชัย รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) (สวทช.) กล่าวว่า งาน NAC2024 ในปีนี้ จะมุ่งเน้นการนำเสนอศักยภาพด้าน (วทน.) ของ (สวทช.) ผ่านผลงานวิจัยทั้งในรูปแบบการจัดประชุมสัมมนา และการจัดนิทรรศการโดยไฮไลต์ของนิทรรศการปีนี้ นอกจากนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย” ยังมีนิทรรศการความก้าวหน้าของงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากนักวิจัย สวทช. ทั้ง 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติ ที่ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ตลอดจนชุมชนและภาคประชาสังคมทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 57 ผลงาน ซึ่งมีทั้งผลงานวิจัยที่นำไปใช้จนเกิดประโยชน์ในวงกว้างเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม และผลงานวิจัยที่พร้อมส่งมอบให้กับภาคสังคมได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้
“ตัวอย่างผลงานวิจัยเด่น เช่น การพัฒนาวัคซีนสำหรับสัตว์เศรษฐกิจ โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) เป็นต้นแบบวัคซีนป้องกันโรคระบาดในสุกรจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ท้องถิ่นของประเทศไทย มีความปลอดภัยสูงในสุกร สามารถกระตุ้นภูมิ คุ้มกันต่อเชื้อได้ดีกว่าวัคซีนรูปแบบอื่น ผ่านการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพเบื้องต้นร่วมกับกรมปศุสัตว์ในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งมีศักยภาพการขยายขนาดเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ชุดตรวจคัดกรองติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนโรคเบาหวานเชิงคุณภาพ (AL-Strip และ GO-SENSOR) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ซึ่งเป็นชุดตรวจแบบรวดเร็วทั้งแบบตรวจด้วยตนเองและตรวจในระดับห้องปฎิบัติการจำนวนมาก ใช้งานง่าย มีความแม่นยำ และมีราคาถูก ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการตรวจคัดกรองภาวะไตเสื่อมในระยะต้น รวมทั้งสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมสุขภาพเชิงป้องกันโรคไตเรื้อรังในคนไทย
นอกจากนี้ยังมี Thai School Lunch for BMA โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นระบบจัดสำรับอาหารเช้า-กลางวัน ในโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตาม ประเมินคุณภาพ และการจัดการอาหารของโรงเรียนได้แบบ real-time ตอบโจทย์เรื่องของโภชนาการและ ค่าใช้จ่าย Lookie Waste: แอปพลิเคชันตรวจสอบปริมาณขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหาร โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ใช้ตรวจสอบปริมาณขยะอาหารและบรรจุภัณฑ์อาหารที่เกิดบริโภคในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคลเพื่อสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค และ EnPAT น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพชนิดติดไฟยาก โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) ร่วมกับพันธมิตรพัฒนาขึ้น มีคุณสมบัติเด่นที่มีจุดติดไฟสูงกว่า 300 องศาเซลเซียส สามารถป้องกันอัคคีภัยเมื่อเกิดเหตุการณ์หม้อแปลงไฟฟ้าระเบิด ช่วยสร้างความปลอดภัยสูงสุดให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จของบริษัทเอกชนภายในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (อวท.) เช่น บริษัท นาโน โค๊ตติ้ง เทค จำกัด ดีพเทคสตาร์ตอัปของไทยที่ได้รับสิทธิประโยชน์และสร้างโอกาสทางธุรกิจจากการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกของ (อวท.) ทั้งการวางแผน บ่มเพาะและอบรมเพิ่มทักษะทางธุรกิจ และได้รับโอกาสจากการเชื่อมโยงแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ จนล่าสุดได้รับการคัดเลือกเป็นหนึ่งในสตาร์ตอัปที่ Hong Kong Science Park มอบทุนไปขยายตลาดต่างประเทศ
สำหรับภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการที่มองหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ภายในงาน NAC2024 ได้เปิดบริการให้ผู้เข้าร่วมงานเข้ามาปรึกษาและขอคำแนะนำจากศูนย์ Connex ซึ่งเป็นศูนย์เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ (สวทช.) สู่ภาคธุรกิจในรูปแบบครบวงจรที่จะช่วย Connect ผู้ประกอบการธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งความรู้ งานวิจัย รวมถึงแหล่งทุน และเป็นตัวกลางในการให้คำปรึกษาที่ตรงโจทย์โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการต่อยอดเชิงพาณิชย์
ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) (สวทช.) กล่าวว่า อีกไฮไลต์ที่ได้รับความนิยมจากผู้เข้าร่วมงาน NAC ทุกๆ ปี คือ หัวข้อสัมมนาที่เข้ากับยุคสมัย ปัญหาโลกร้อน โลกรวน และเทรนด์งานวิจัยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น งาน NAC ปีนี้ มีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจหลายหัวข้อที่นอกจากวิทยากรทั้งจากนักวิจัยจาก 5 ศูนย์แห่งชาติแล้ว ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรจากหน่วยงานพันธมิตรของ (สวทช.) ทั้งในและต่างประเทศ ที่ล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรงที่จะมาร่วมแชร์ข้อมูล มากกว่า 40 หัวข้อ เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์จากการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม อาทิ ด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มาตรการรองรับ CBAM ของอุตสาหกรรมไทยพร้อมมุ่งสู่การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน,โลกเปลี่ยน คนปรับ : พัฒนาคุณภาพน้ำชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิต ด้วย (วทน.) และ ฝุ่น! : ปัญหาและการรับมือ หรือด้านสุขภาพการแพทย์ ได้แก่ เทคโนโลยี Digital Health เพื่อการยกระดับการให้บริการสาธารณสุข,จีโนมิกส์ประเทศไทย : การแพทย์จีโนมิกส์เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทย Pharma NETwork ผสานพลังเพื่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยาไทย ทั้งนี้ ยังมีด้านสุขภาพและความงาม เช่น นวัตกรรมการผลิตสารสกัดสมุนไพรมูลค่าสูง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและความงาม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Open house โดย (สวทช.) และประชาคมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ร่วมเปิดบ้านต้อนรับนักธุรกิจ นักอุตสาหกรรม และนักลงทุน ได้เข้าชมโครง สร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ เพื่อเปิดประสบการณ์สัมผัสกับเทคโน โลยีจากศักยภาพของบุคลากรวิจัยและห้องปฏิบัติการวิจัยของ (สวทช.) รวมถึงการเข้าชมตัวอย่างผลงานนวัตกรรมจากบริษัทผู้เช่าพื้นที่ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ตลอดจนนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจจากบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยี ที่จะเป็นตัวช่วยให้การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเพิ่มศักยภาพและกำไรให้กับธุรกิจ และอีกหนึ่งไฮไลต์ในงาน คือ NAC Market ที่จะนำสินค้านวัตกรรมที่พัฒนาจากงานวิจัยและบริการต่างๆ ของ (สวทช.) และสินค้าชุมชนและสินค้าอื่นๆ มาจำหน่ายในราคาพิเศษสุดและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชน การเสวนาสำหรับครูอาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ในรูปแบบที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะไม่ได้ฟังบรรยายอย่างเดียว แต่ยังได้ลงมือประดิษฐ์และการทดลองจริง
(สวทช.) ขอเชิญทุกคนเตรียมพบกองทัพนวัตกรรม งานวิจัย และองค์ความรู้ด้าน (วทน.) มากมายที่รออยู่ในงานจัดการประชุมวิชาการประจำปี (สวทช.) ครั้งที่ 19 หรือ งาน NAC2024 วันที่ 28-30 มีนาคม 2567 เวลา 09.00-16.30 น. ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (ยกเว้นวันที่ 29 มีนาคม 2567 เปิดให้เข้าชม เวลา 13.00-16.30 น.) ผู้สนใจลงทะเบียนร่วมงานได้ฟรีที่ https://www.nstda.or.th/nac สอบถามเพิ่มเติมโทรศัพท์ 0 2564 8000
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน