วช. ยกย่อง ผู้คิดค้นองค์ความรู้ใหม่ด้านคลินิกเพื่อรักษาและป้องกันการติดเชื้อ HIV ในเด็กและเยาวชน “ศ.พญ.ธันยวีร์ ภูธนกิจ” เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปี 67
วันที่ 8 มีนาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดงาน NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2567 ครั้งที่ 3 เปิดตัวนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2567 ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ ภูธนกิจ แห่ง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้คิดริเริ่มศึกษาองค์ความรู้ใหม่ด้านคลินิกเกี่ยวกับการดูแล รักษา และป้องกันการติดเชื้อไวรัส HIV ในเด็กและเยาวชน โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานฯ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง (ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) จัดกิจกรรม “NRCT Talk นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 ครั้งที่ 3” เพื่อเชิดชูเกียรตินักวิจัยไทยที่มีผลงานโดดเด่น สร้างคุณูปการให้กับวงวิชาการและประเทศชาติ รวมทั้งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการสร้างแรงจูงใจของนักประดิษฐ์ และนักวิจัย ในอันที่จะพัฒนานวัตกรรมทางความคิดและภูมิปัญญาที่เป็นประโยชน์ สร้างความก้าวหน้าในศาสตร์แขนงต่างๆ โดยในปีนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทรงเปิดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2567 และพระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เข้าเฝ้ารับพระราชทานเกียรติบัตรรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ซึ่ง ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ ภูธนกิจ แห่ง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็น 1 ในนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประจำปี 2567 ที่ได้รับพระราชทานรางวัลการวิจัยแห่งชาติในครั้งนี้
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ ภูธนกิจ ได้อุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนาองค์ความรู้ และพัฒนาระบบเครือข่ายหน่วยวิจัยทางคลินิกให้มีความเข้มแข็งทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งงานวิจัยมุ่งเน้นทางคลินิกด้านการรักษาและป้องกันการติดเชื้อ HIV ในเด็ก และสตรีมีครรภ์ โดยได้ศึกษาวิจัยการใช้ยาต้านไวรัส HIV สำหรับเด็กที่อยู่กับเชื้อ HIV เพื่อลดการเจ็บป่วยด้วยภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และอัตราการเสียชีวิต ทำให้เด็กสามารถอยู่ร่วมกับเชื้อ HIV และสามารถเติบโตเข้าสู่วัยทำงานได้
ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงธันยวีร์ ภูธนกิจ กล่าวว่า งานวิจัยทางคลินิกที่ได้ดำเนินการ เป็นงานวิจัยที่เน้นถึงเรื่องการป้องกันการรับเชื้อ HIV ในเด็ก และเยาวชน ในอดีตหญิงตั้งครรภ์ที่อยู่กับเชื้อ HIV บุตรที่เกิดจะมีโอกาสสูงมากที่จะได้รับเชื้อ HIV ร้อยละ 30 แต่ปัจจุบันการให้ยาต้านไวรัสกับหญิงตั้งครรภ์ทำให้บุตรมีโอกาสรับเชื้อ HIV ลดลงเหลือแค่ร้อยละ 1 นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV เมื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องด้วยยาต้านไวรัส มีสุขภาพที่ดีและชีวิตที่ยืนยาว สามารถเติบโตไปโรงเรียน ไปทำงานและมีครอบครัวได้ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมจะช่วยกันได้ คือการทำความเข้าใจ ลดการเลือกปฏิบัติและตีตราผู้ที่ติดเชื้อ HIV เพื่อให้ผู้ติดเชื้อ HIV มีชีวิตที่อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยเป้าหมาย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แนวนโยบาย “ไม่ติด ไม่ตาย ไม่ตีตรา” โดยมุ่งเน้นการลดผู้รับเชื้อ HIV รายใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 9,200 คน ต่อปี ให้ลดเหลือต่ำกว่า 1,000 คน ต่อปี ภายในปี 2573
การนำความรู้จากงานวิจัยพื้นฐานด้านไวรัสวิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา เภสัชวิทยา และระบาดวิทยามาต่อยอดทำงานวิจัย นำยาต้านไวรัสสูตรต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการรักษาเด็กอยู่ร่วมกับเอชไอวีในประเทศไทย โดยมีแรงบันดาลใจจากการร่วมงานวิจัยกับเครือข่ายนักวิจัยใน สหรัฐอเมริกา และ กลุ่มประเทศแถบยุโรป ที่มีการวิจัยพัฒนาที่ก้าวหน้า รวมทั้งได้ทำวิจัยร่วมกับองค์การเภสัชกรรม โดยการใช้ยาต้านไวรัสที่ผลิตได้เองในประเทศไทย ทำให้เด็กอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี สามารถเข้าถึงยาได้ทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาสูตรยาต้านไวรัส จากที่ต้องรับประทานวันละหลายครั้ง หลายเม็ด จนในปัจจุบันเป็นยาต้านไวรัสเม็ดรวม รับประทานวันละครั้ง ทำให้สามารถใช้ได้ง่าย ประสิทธิภาพดี สามารถใช้ได้กับเด็กในไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น
องค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย ได้รับการผลักดันไปสู่การกำหนดแนวทางการรักษาและป้องกันการติดเชื้อ HIV ในเด็กและสตรีมีครรภ์ สำหรับใช้ในการดูแลรักษาที่เกิดประโยชน์ต่อเด็กและสตรีมีครรภ์ที่ติดเชื้อ HIV สามารถลดการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันเครือข่ายวิจัย HIV เด็กในประเทศไทยและกัมพูชา รวมถึงเครือข่ายวิจัยเรื่อง HIV ในเด็กและเยาวชน ในเอเชีย
สำหรับกิจกรรม “NRCT Talk : นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567” ในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัยได้นำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมผ่านสื่อมวลชน ตลอดจนการผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์คิดค้น กิจกรรม ภารกิจ และผลการดำเนินงาน ของ (วช.) เพื่อให้สื่อมวลชนเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานและกิจกรรมของ (วช.) ไปสู่ชุมชนและสาธารณชนเพื่อให้ได้ทราบและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน