ชาวไร่ยาสูบวอนสรรพสามิตปรับอัตราภาษีบุหรี่ให้เหมาะสม ชี้การเปลี่ยนอาชีพไม่ง่าย ต้องใช้เวลาในการปรับตัว
จากกรณีกรมสรรพสามิตแถลงข่าว การออกกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2562 เพื่อลดอัตราภาษียาเส้นจาก 0.10 บาทต่อกรัม เหลือเพียง 0.025 บาทต่อกรัม หรือลดลงให้ถึง 3 ใน 4 ระหว่างวันที 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะปลูกและผลิตยาเส้น รวมถึงผู้ผลิตยาเส้นรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราภาษียาเส้นในช่วงเดือนพฤษาคม 2562 ให้สามารถปรับตัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังอยู่ระหว่างการหารือหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อสรุปว่า จะให้มีการเลื่อนขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ไปหรือไม่ หรือจะให้มีการปรับเพิ่มขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปให้เกษตรกรชาวไร่ยาสูบมีเวลาปรับตัว
นายสุธี ชวชาติ ประธานภาคีชาวไร่ยาสูบและนายกสมาคมผู้บ่ม ผู้เพาะปลูกและผู้ค้าใบยาสูบลำปาง กล่าวว่า เข้าใจและเห็นด้วยกับกรมสรรพสามิตและกระทรวงการคลังโดยเฉพาะท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สันติ พร้อมพัฒน์ ต้องการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่ยาเส้น จากการขึ้นภาษีแบบก้าวกระโดด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่ทำให้ยาเส้นต้องขึ้นราคาไปเฉลี่ยประมาณห่อละ 2-3 บาท การขึ้นภาษีที่ทำแบบก้าวกระโดดไม่ว่าจะทำกับสินค้าใด ก็ย่อมสร้างความเดือดร้อนรุนแรงให้กับผู้ผลิตและอุตสาหกรรมต้นน้ำ ในกรณีภาษียาเส้นก็ไม่ต่างจากกรณีการขึ้นภาษีบุหรี่ที่ผ่านมา เมื่อเดือนกันยายน 2560 ขึ้นไปจนบุหรี่ราคาขึ้นทีเดียว 20 บาทหรือขึ้นราคาไป 50% แต่รัฐก็ไม่เคยลดภาษีให้เหมือนยาเส้น
ทั้งที่บุหรี่ถูกขึ้นภาษีมาตลอดในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาไม่น้อยกว่า 15-16 ครั้ง จนชาวไร่ยาสูบ โดนตัดโควตาซื้อใบยาไปกว่าครึ่งหนึ่งมา 2 ปี แล้ว และรายได้หายไปไม่น้อยกว่า 450 ล้านบาท เกษตรกรอยากให้กรมสรรพสามิต และท่าน รมช. สันติ พิจารณาทบทวนการขึ้นภาษี 40% เพื่อช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบกว่า 50,000 ครอบครัวทั่วประเทศ เพราะหากขึ้นภาษีบุหรี่เป็น 40% ปีหน้าจริง คาดว่าจะทำให้ราคาบุหรี่บ้านเราต้องไปขายที่ 90 บาทต่อซอง ยอดขาย ยสท. จะตกต่ำ จนส่งผลกระทบต่อการรับซื้อใบยาสูบอีก ในขณะที่ยาเส้นราคาเพียงห่อละไม่เกิน 15 บาท แต่บุหรี่จะมีราคาตั้งแต่ 90-165 บาท ต่างกัน 5-10 เท่าตัว ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำไมเก็บภาษียาสูบเท่าไร่คนไทยก็ยังมีอัตราการบริโภคยาสูบเท่าๆ เดิม รวมถึงปัญหาบุหรี่หนีภาษีราคาถูกที่ถือเป็นปัญหาหนึ่งของการบริโภคยาสูบเช่นกัน”
นายสุธีกล่าวทิ้งท้ายว่า แทนที่จะขึ้นภาษีบุหรี่แบบก้าวกระโดด อยากให้รัฐบาลปรับอัตราภาษีบุหรี่ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐฏิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคคนไทย โดยหันมาใช้แนวทางการขึ้นภาษีแบบค่อยเป็นค่อยไป ทีละน้อยแทนจะดีกว่า เพราะระยะเวลาการปรับตัวเพียง 2-3 ปี คงไม่เพียงพออย่างแน่นอนสำหรับสัดส่วนการขึ้นภาษีที่เรียกได้ว่าจะขึ้น 200% ตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ยังไม่มีการศึกษาหรือให้ความช่วยเหลือแต่เกษตรกรชาวไร่ยาสูบในเรื่องการปรับเปลี่ยนอาชีพเลย ขอให้ภาครัฐเห็นใจและให้ความช่วยเหลือด้วย
มนสิชา คล้ายแก้ว