ข่าวใหม่อัพเดท » จังหวัดลำพูน เดินหน้าโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

จังหวัดลำพูน เดินหน้าโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

28 มีนาคม 2024
0

จังหวัดลำพูน เดินหน้าโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

วันนี้ 27 มีนาคม 2567 ที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน พระเทพรัตนนายก เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ประธานฝ่ายสงฆ์ นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ประธานฝ่ายฆราวาส ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างอย่างยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา โดยมีนายบุญส่ง ไชยมณี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำพูน นายสมาน กองแก้ว ปลัดจังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ เจ้าคณะอำเภอ ปลัดอำเภอ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลและกำนัน 50 ชุมชนเข้าร่วมลงนามฯ

กระทรวงมหาดไทยมีนโยบายให้ทุกจังหวัดขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา โดยขยายผลการดำเนินงานโครงการให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ประกอบกับกระทรวงมหาดไทยได้จัดทำโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5 ขยายผลสู่ หมู่บ้านศีลธรรม” และได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือบทบาทในการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชน ให้มีความสุขอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่าง ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบล คณะสงฆ์ และกำนันในพื้นที่เพื่อบูรณาการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ให้บรรลุตัวชี้วัด 8 เรื่อง คือ

  1. ที่อยู่อาศัย โดยต้องมีความมั่นคงแข็งแรง ครัวเรือนมีส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
  2. ความมั่นคงทางอาหาร โดยใช้ประโยชน์ของพื้นที่สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ตามโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน”
  3. ความสะอาดโดยบ้านเรือน หมู่บ้าน ชุมชน สะอาด มีการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน มีการคัดแยกขยะต้นทาง (3R) และมีการจัดการขยะหมู่บ้าน/ชุมชน เช่น ตลาดนัดขยะ ธนาคารขยะ จุดทิ้งขยะอันตราย เป็นต้น
  4. ความสามัคคี โดยมีการรวมตัวกันเป็นคุ้มบ้าน หย่อมบ้าน ป๊อกบ้าน ฯลฯ เพื่อดูแลช่วยเหลือ พึ่งพาอาศัยกัน
  5. ความร่วมมือโดยมีการประชุม พบปะกันเป็นประจำในระดับคุ้มบ้าน หย่อมบ้าน ป๊อกบ้าน ในลักษณะ “ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์”
  6. การปฏิบัติตามหลักศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มีการจัดกิจกรรมทางศาสนาในระดับหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นประจำตามความศรัทธา ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม ของคนในหมู่บ้าน
  7. ความมั่นคงปลอดภัย หมู่บ้าน/ชุมชน มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยมีการช่วยเหลือคนในครัวเรือน หมู่บ้าน/ชุมชน ไม่ให้ติดยาเสพติดลดความเสี่ยงด้านกายภาพ (ไฟฟ้า, ถนน, ภัยพิบัติ, อุบัติเหตุ) และปลอดอาชญากรรม
  8. การมีน้ำสะอาดสำหรับการอุปโภคและบริโภคเพียงพอตลอดทั้งปี โดยมีภาชนะกักเก็บน้ำรูปแบบต่าง ๆ มีการบำรุงรักษาฟื้นฟูแหล่งกักเก็บน้ำเดิมหรือจัดทำแหล่งกักเก็บน้ำใหม่

ซึ่งจังหวัดลำพูน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามตัวชี้วัดหมู่บ้านยั่งยืนตาม 8 ตัวชี้วัด ทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย ความมั่นคงทางอาหาร ความสะอาด ความสามัคคี ความร่วมมือ การปฏิบัติตามหลักศาสนา ประเพณี วัฒนธรรม และการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ความมั่งคงปลอดภัย และการมีน้ำสะอาดสำหรับในการอุปโภคและบริโภค โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย และผู้นำศาสนา โครงการวัด ประชา รัฐ สร้างสุข โครงการเกื้อหนุนระหว่างวัดและชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ขยายผลสู่หมู่บ้านศีลธรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนโดยยึดหลักทางศาสนาและนำมาปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต เพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดองสมานฉันท์ก่อให้เกิดสันติสุขในหมู่บ้านอย่างยั่งยืน ร่วมกับฝ่ายปกครองซึ่งมีนายอำเภอซึ่งเป็นผู้นำในการบูรณาการในระดับอำเภอ ปลัดอำเภอ เป็นผู้นำการบูรณาการระดับตำบล เคียงข้างกัน เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน


นที มีเดช รายงาน

error: Content is protected !!