จังหวัดลำพูน ประชุมคณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุจังหวัดลำพูน เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุ นำไปขับเคลื่อนและรองรับสังคมสูงวัยในอนาคต
วันที่ 29 มีนาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมเจ้าหลวงเศรษฐีคำฝัน ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดลำพูน นางปราณี ประทุมมา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุจังหวัดลำพูน ครั้งที่ 1/2567 โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุจังหวัดลำพูน ตามคำสั่งคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมจังหวัดลำพูน ที่ 498/2561 เรื่องการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุจังหวัดลำพูน โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
สำหรับวาระการประชุมที่สำคัญประกอบด้วยการรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุ ประจำปี 2566 รวมถึงข้อมูลจำนวนผู้สูงอายุในพื้นที่ของจังหวัดลำพูน โดยจังหวัดลำพูนมีจำนวนประชากร 398,440 คน แยกเป็น เพศชาย จำนวน 190,822 คน และเพศหญิง จำนวน 207,618 คน จังหวัดลำพูนมีผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จำนวน 108,479 คน คิดเป็นร้อยละ 27.22 ของจำนวนประชากร แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 48,203 คน คิดเป็นร้อยละ 44.43 เพศหญิง จำนวน 60,276 คน คิดเป็นร้อยละ 55.57 ของจำนวนผู้สูงอายุจังหวัดลำพูน (ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร สำนักบริหารการทะเบียนกรมการปกครอง ข้อมูล ณ ธันวาคม 2566)
ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการนำเสนอนโยบายด้านสังคม ประเด็น ผู้สูงอายุ เรื่อง “สูงวัย รู้เท่าทันดิจิทัล” โดยปัจจุบัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2567 ซึ่งธรรมชาติของผู้สูงอายุ ต้องเผชิญภาวะความเสื่อม ความถดถอยทางร่างกาย จิตใจ ความสัมพันธ์ทางสังคม อันส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสุขภาวะ ซึ่งผู้สูงอายุประสบปัญหาการถูกเอารัดเอาเปรียบที่เป็นผลมาจากการไม่รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง โดยพฤติกรรมการใช้สื่อในกลุ่มผู้สูงอายุมักชอบรับข่าวสารแล้วแชร์ต่อทันที โดยไม่ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล ส่งผลให้ข่าวลวงยิ่งสามารถแพร่กระจายและกลายเป็นข่าวลวง วนซ้ำอย่างไม่รู้จบ จึงจำเป็นต้องสร้างเสริมการรู้เท่าทันสื่อ เพื่อไม่ให้ถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพที่หลอกขายจากโฆษณาที่เกินจริง รู้จักใช้วิจารณญาณในการแชร์ข่าว สามารถเลือกรับข่าวสาร การพิจารณาเนื้อหา เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยสามารถสรุปได้ 5 ด้าน ได้แก่ ด้านครอบครัว ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้านการป้องกันและปราบปรามของหน่วยงาน ด้านการประชาสัมพันธ์ และด้านการศึกษา ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสังคมในระดับพื้นที่ในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการอีกด้วย
ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุจังหวัดลำพูน ประจำปีงบประมาณ 2567 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำพูน ได้กำหนดให้ใช้แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2580) ในภาวะเร่งด่วน 5 ปีแรก เป็นกรอบหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการงานด้านผู้สูงอายุจังหวัดลำพูน ประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งสอดรับกับแผนพัฒนาจังหวัดลำพูน (พ.ศ. 2566-2570) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเป็นเมืองแห่งความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เกิดแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิต แก้ไขปัญหาความยากจน พัฒนาผู้สูงอายุและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน อันสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกช่วงวัย อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เป็นสังคมมั่นคง ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ภายใต้กลไกการเชื่อมประสานความสัมพันธ์ปรองดองที่มีประสิทธิภาพต่อไป
นที มีเดช รายงาน