ข่าวใหม่อัพเดท » เชียงใหม่ รับมอบ “ช้างไฟ” อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟจาก มช. พร้อมนำมาช่วยแก้ปัญหาไฟป่า

เชียงใหม่ รับมอบ “ช้างไฟ” อุปกรณ์ตรวจจับควันไฟจาก มช. พร้อมนำมาช่วยแก้ปัญหาไฟป่า

31 มีนาคม 2024
0

จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอุปกรณ์ “ช้างไฟ” เครื่องตรวจจับควันไฟส่งสัญญาณได้แบบ Real time จากสถานบันนวิศวกรรมชีวการแพทย์ มช. พร้อมนำมาแก้ปัญหาไฟป่าช่วยเหลือเสือไฟ ขณะนี้ได้ติดตั้งแล้วกว่า 400 เครื่อง ทั่วป่าในเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ด่านตรวจที่ 1 (ห้วยแก้ว) อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอุปกรณ์ “ ช้างไฟ” จากสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมี นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองและประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด, อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ และผู้อำนวยการสถาบัน วิศวกรรมชีวการแพทย์, รองผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมชีวการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเป็นสักขีพยานในการรับมอบ

โดย ศาสตราจารย์ ดร. นิพนธ์ ธีรอำพน ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ และรองศาสตราจารย์ ดร. ศันสนีย์ เอื้อพันธ์วิริยะกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมชีวการ ได้เผยถึงการทำงานของอุปกรณ์ “ ช้างไฟ” ว่าคือระบบการแจ้งเตือนการเกิดไฟป่า ด้วยการตรวจจับควันที่เกิดจากการเผา และส่งตำแหน่งพิกัดที่ตรวจพบควันไฟผ่านเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปยังระบบประมวลผลเพื่อประมวลระดับความรุนแรงของควันไฟและแสดงผลไปยังหน้าจอของผู้ใช้ ณ ศูนย์ควบคุมควบคุมไฟป่า ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการช่วยเหลือเหลือเสือไฟ โดย “ ช้างไฟ” จะใช้ติดตั้งบนต้นไม้ที่ระดับความสูงประมาณ 4-10 เมตร มีระบบการใช้งานร่วมกับซิมเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และใช้แหล่งพลังงานจากโซลาร์เซลล์ที่ติดกับตัวเครื่อง เมื่อเกิดควันไฟขึ้นจะทำให้ทราบสถานการณ์แบบ Real time ทำให้สามารถดำเนินการวางแผนควบคุมไฟป่าได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ “ช้างไฟ” ได้ถูกติดตั้งแล้วทั้งหมด 428 เครื่องทั่วเชียงใหม่

ด้าน นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา PM 2.5 และประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน มีการสั่งอย่างเข้มงวดในการให้คุณให้โทษกับเจ้าหน้าที่ และการห้ามเผาทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรมเกษตร โดยในช่วงนี้ไทยได้รับผลกระทบจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักสำคัญที่ทำให้ค่าฝุ่นสูง นายกรัฐมนตรีจึงได้มีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านหยิบยกประเด็นนี้มาหารือ ทำให้มีการทำยุทธศาสตร์ Clear Sky Strategy ร่วมกันระหว่างไทย สปป.ลาว, เมียนมาร์ และเวียดนาม และขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับทางกัมพูชาเพื่อให้เข้าร่วมยุทธศาสตร์นี้ด้วย ขณะเดียวกัน พรบ. อากาศสะอาด ได้พิจารณามาครึ่งทางแล้วจากทั้งหมด 102 มาตรา และเมื่อวานที่ผ่านมาได้มีมีการประชุมกรรมาธิการในประเด็นหมอกควันข้ามแดน ซึ่งได้รับฟังความคิดเห็น จากหน่วยงานภาครัฐในมิติต่างๆ ทำให้เห็นถึงปัญหาและทิศทางความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตชัดเจนยิ่งขึ้นซึ่งคาดว่า พรบ. อากาศสะอาดฉบับนี้จะสามารถใช้ได้ในไตรมาส 4 ของปีนี้

ทั้งนี้ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้กล่าวขอบคุณทีมงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิศวกรรมชีวการแพทย์ ที่ได้คิดค้นเครื่องตรวจจับควันผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า “ช้างไฟ” เป็นการช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าในการรับทราบข้อมูลไฟไหม้ได้สำเร็จ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่สามารถรับทราบจุดเกิดไฟได้เร็วก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและชุมชนอย่างยิ่ง เป็นไปตามแนวคิดของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในการเข้าถึงเหตุให้ได้โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเกิดเหตุรุนแรงลุกลาม ทั้งนี้จังหวัดเชียงใหม่พร้อมขับเคลื่อนต่อให้เกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นต่อไป


นที มีเดช รายงาน

error: Content is protected !!