สะท้อนชีวิต “คนดับไฟ” นอนกลางดินกินกลางป่า 4 คืน 5 วัน จับตาไฟป่ากลุ่มใหญ่บ้านแม่ก๋อน เร่งทำแนวเฝ้าระวังไฟป่าลุกลามใจกลางป่าสาละวิน
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 สื่อมวชนรายงานว่า ภาพสะท้อนการทำงานภารกิจดับไฟของเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องกินและอาศัยอยู่ในป่า ในห้วงของฤดูหมอกควันและไฟป่า เหยี่ยวไฟ หรือ เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ส่วนราช การต่างๆ ท้องถิ่น รวมถึง ภาคีเครือข่าย อส.อส. ที่ต้องระดมกำลังกันในการป้องกันและดับไฟป่าในทุกๆพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อน ในขณะที่สถานการณ์ไฟป่าแนวโน้มรุนแรง เจ้าหน้าที่เหล่านี้แทบไม่มีเวลาได้พักผ่อน ดับไฟกันทั้งวันเกือบทั้งคืน ก็ว่าได้
เช่นเดียวกับในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติสาละวิน นายลิขิต ไหวพรหม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติสาละวิน ได้เปิดเผยถึงการเข้าพื้นที่ในการสกัดดับไฟในพื้นที่อุทยานแห่งชาติสาละวินในห้วง ที่ผ่านมาต้องกินนอนกันในป่า ถึง 4 คืน 5 วัน โดยจุดความร้อนเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคมบริเวณพื้นที่บ้านแม่ก๋อน เจ้าหน้าที่บูรณาการเข้าพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม เสร็จสิ้นภารกิจ เมื่อ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ต้องทำงานดับไฟกันอย่างข้ามวันข้ามคืน อาศัยกินอาศัยนอนตามลำห้วยในป่า เพื่อดับไฟกลุ่มใหญ่ในพื้นที่ บ้านแม่ก๋อน ต.แม่คง อ.แม่ สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งปรากฏจุดความร้อนสะสม ตั้งแต่วันที่ 20-28 มีนาคม รวม 110 จุด มีพื้นที่ป่าได้รับความเสียหายรวม 26,660 ไร่
โดยเจ้าหน้าที่ได้เข้าดับไฟกลุ่มใหญ่ในผืนป่าสาละวิน รวม 5 วัน ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติสาละวินสว.6 (อุมดา) จุดสกัดอุทยานแห่งชาติสาละวิน (โพซอ) สายตรวจส่วนกลางอุทยานแห่งชาติสาละวิน ชุดสถานีควบคุมไฟป่าแม่สะเรียง หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติสาละวินที่ สว.7 (แม่ก๋อน) ราษฏรอาสาเฝ้าระวังไฟป่า กลุ่มเครือข่าย อส.อสบ้านแม่ก๋อนและบ้านโพซอ โดยใช้วิธีทำแนวกันไฟไม่ให้ไฟลามเข้าพื้นที่ใจกลางอุทยานสาละวิน ซึ่งการทำงานต้องแข่งกับสภาพอากาศที่ร้อน ไฟป่าที่โหมหนัก เพื่อป้องกันผืนป่าสาละวิน
สำหรับสาเหตุของการเกิดไฟยังเป็นการลักลอบเผาของชาวบ้านบางกลุ่มที่ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ถึงวันนี้ 29 มีนาคม 2567 ยังพบจุดความร้อนเพิ่มเติมในพื้นที่เดิมบ้านแม่ก๋อน อีก 21 จุด ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องเดินทางเข้าดับไฟกันอีกครั้งในวันนี้
นที มีเดช รายงาน