เทศบาลตำบลบ้านกลาง จับมือ ภาคเอกชน พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล หวังดึงอปท.เครือข่าย มุ่งสู่เมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน เพื่อประชาชนได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการ รวมถึงการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเมืองอย่างเป็นระบบในอนาคต
วันที่ 5 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. เทศบาลตำบลบ้านกลาง ร่วมกับ บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด บริษัท เอไอ แอนด์โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด และวิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมแถลงข่าวเปิดตัวแพลตฟอร์มดิจิทัลในการให้บริการประชาชนของเทศบาลตำบลบ้านกลางและการเสวนาหัวข้อ “การขับเคลื่อนท้องถิ่นไทยสู่เมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน ด้วยระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อยกระดับการให้บริการประชา ชน” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและแพลตฟอร์มการให้บริการประชาชนแก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนประชาชนในตำบลบ้านกลางและภาคีเครือข่าย รวมทั้งเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และกระตุ้นให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานภาครัฐ ได้นำแพลตฟอร์มเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในการให้บริการประชาชน และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการภายในองค์กร เปิดเผยข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนทราบเพื่อให้เกิดความโปร่งใส โดยมีนายโยธิน ประสงค์ความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในกิจกรรมดังกล่าว
ทั้งนี้นายสอน อิ่นแก้ว นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง กล่าวว่า ตามที่เทศบาลได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ว่าด้วยการพัฒนาและเผยแพร่แพลตฟอร์มข้อมูลเมือง (City Digital Data Platform) ร่วมกับ บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด บริษัท เอไอ แอนด์โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด และวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาและเผยแพร่แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง ซึ่งระบบดังกล่าวสามารถนำข้อมูลต่างๆที่หน่วยงานมีอยู่แล้วในรูปแบบเอกสาร แฟ้ม ข้อมูลต่างๆ นำเข้าสู่ระบบดิจิทัลเพื่อให้ AI รวบรวม ประเมินผล วิเคราะห์ข้อมูลเมืองรวมทั้งสามารถวางแผน ติดตามผล และแก้ไขปัญหาต่างๆของเมืองให้มีความทันสมัย สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก ทันต่อสถานการณ์ต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต
จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้มีแพลตฟอร์มที่นำมาใช้ในการให้บริการประชาชน และรองรับการบริหารจัดการองค์กร ได้แก่ แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมือง City Digital Data Platform , ระบบขออนุญาตก่อสร้างอาคาร Smart Building, ระบบ, ระบบ E-Smart Service (Bell Me) , ระบบบริหารจัดการทรัพย์สินอัจฉริยะ Smart Asset Management และระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์E-Office เป็นต้นซึ่งแพลตฟอร์มต่างๆทำให้การทำงานของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว
นายกเทศมนตรีตำบลบ้านกลาง กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ตนอยากเชิญชวนให้อปท.ทั่วประเทศ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการภายในองค์กรและการให้บริการประชาชน โดยนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานกิจการสาธารณะ ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพิ่มช่องทางการเข้าถึงการบริการของรัฐ สร้างสังคมที่ทุกคนมีสิทธิเสมอภาคกัน ตลอดจนยกระดับการให้บริการประชาชนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลของอปท.ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว โปร่งใส ลดการเดินทาง ลดการใช้เอกสาร และสามารถตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาล ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ….
นที มีเดช รายงาน