วช. จับมือ ม.อ และ กทม. เซ็น MOU สนับสนุนการแพทย์ ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และ กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจและสนับสนุนการแพทย์ ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ ดร.แพทย์หญิงเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ร่วมกันลงนามความร่วมมือฯ และมีคณะผู้บริหาร วช. และคณะผู้บริหาร สำนักการแพทย์ ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้ ณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวง (อว.) มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนการต่อยอดขยายผล งานวิจัยและนวัตกรรม และถ่ายทอดองค์ความรู้งานวิจัยและนวัตกรรม โดยเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้ประโยชน์ในโรงพยาบาล และหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการลงนามบันทึกความเข้าใจในวันนี้ เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ภายใต้การส่งเสริมและพัฒนาของนักวิจัย โดยได้มีการเดินหน้ามาตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ภายใต้โครงการชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่าย จากทวารเทียมจากยางพารา โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ที่ทีมวิจัย ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเกือบ 10 ปี จนถึงระยะที่สามารถนำสู่การใช้ประโยชน์ แก้ปัญหาความขาดแคลน ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เดือดร้อนจากการเจ็บป่วย สามารถเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียมกัน เพิ่มคุณภาพ ชีวิตและลดช่องว่างทางสังคม และส่งผลให้ปัจจุบันชุดอุปกรณ์รองรับสิ่งขับถ่ายทวารเทียมได้มีการใช้วัสดุจากยางพาราภายในประเทศ ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และสร้างความมั่นคงได้ในระยะยาว อีกทั้งยังได้มีการพัฒนารูปแบบของชุดอุปกรณ์ให้เหมาะกับผิวและผนังหน้าท้องของคนไทย จนสามารถจดสิทธิบัตรสูตรยางพาราและอนุสิทธิบัตรการออกแบบอุปกรณ์ทวารเทียม จนเกิดผลสัมฤทธิ์ในการนำผลงานวิจัยด้านการแพทย์ไปใช้ประโยชน์อย่างครบวงจร
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ผลิตคิดค้นโดยนักวิจัยไทย และนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก วช. ตั้งแต่ต้นน้ำ กระบวนการผลิต รวมไปถึงการจดสิทธิบัตร และผลักดันให้เกิดการใช้จริง พร้อมจะขยายผลต่อไป ซึ่งการผลิตอุปกรณ์ทวารเทียมจากยางพารา เป็นวัสดุที่ใช้แล้วทิ้ง ที่ผลิตได้เองภายในประเทศ เป็นการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการไทยนับได้ว่ามีความสามารถมาก รวมทั้งยังมีงานวิจัยและนวัตกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือแพทย์ ยา อาหาร หรือสมุนไพร ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนและพลิกโฉมงานวิจัยและนวัตกรรมต่อไป
ดร.แพทย์หญิงเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า การลงนามความเข้าใจกับ (วช.) และ (ม.อ.) ก็เพื่อขับเคลื่อนบูรณาการความร่วมมือในการนำองค์ความรู้ งานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปส่งเสริม สนับสนุน สร้างเสริมให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี นำไปสู่การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งสำนักการแพทย์มีนโยบายในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพพัฒนาศูนย์ข้อมูลสารสนเทศทางการแพทย์ ส่งเสริมความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุข บริการทางวิชาการ พัฒนาบุคลากรสายวิชาชีพ สายสนับสนุนด้านบริหารทางการแพทย์ ส่งเสริม ดำเนินการวิจัยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ศึกษา การพัฒนาระบบส่งต่อ ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล การขับเคลื่อนเขตสุขภาพกรุงเทพมหานคร (Bangkok Health Zoning) รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและดำเนินการป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพด้านการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สู่การเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อรับใช้สังคมและประเทศต่อไป
สำหรับกรอบแนวทางความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนบูรณาการความร่วมมือในการนำองค์ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการแพทย์ ไปส่งเสริมสนับสนุน สร้างเสริมให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี นำไปสู่การพัฒนาชุมชน และเศรษฐกิจฐานรากให้มีความสามารถในการแข่งข้นด้านการส่งเสริม การค้า และการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน และขยายผลองค์ความรู้งานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
นอกจากพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจและสนับสนุนการแพทย์ ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมแล้ว ภายในงานยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมทางการแพทย์สู่การใช้ประโยชน์ และการจัดแสดงนิทรรศการนวัตกรรมของ (วช.),(ม.อ.) และ (กทม.) อาทิ ผลงาน “ประสิทธิผลการรักษารังแคจากหนังศีรษะอักเสบด้วย แชมพูจากอนุภาคเงิน นาโนจากผลมะกรูดและผลมะรุม เปรียบเทียบกับแชมพูยาคีโตโคนาโซล” ผลงาน “ชุดตรวจสุขภาพอัจฉริยะพร้อมเชื่อมต่อระบบ สารสนเทศแบบพกพา สำหรับงานสาธารณสุขเชิงรุก” นวัตกรรมทางการแพทย์ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม ผลงาน “แป้นปิดรอบลำไส้และถุงเก็บสิ่งขับถ่ายจากลำไส้” ผลงาน “ถุงมือยางธรรมชาติ/ถุงมือไนไตรเคลือบน้ำยานาโนอิมัลชันป้องกันโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19” และผลิตภัณฑ์นมเปรี้ยว นมอัดป้องกันฟันผุ บริษัทแดรี่โฮม วิสาหกิจ เพื่อสังคม จำกัด
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน