“ประเพณีแห่ช้างบวชนาค” สืบสานตำนานชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว
บรรยากาศสีสันสวยงามของงาน “ประเพณีแห่ช้างบวชนาค” ชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ประจำปี 2567 สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปเที่ยวชมขบวนแห่ช้างบวชนาค ที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นและหาชมได้ยาก“ประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว” จัดขึ้นในวันที่ 7 เม.ย. 61 ณ วัดหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนา ลัย จ. สุโขทัย ภายในงานมีกิจกรรมไฮไลท์คือ ขบวน “นั่งช้าง บวชนาค” อันตระการตากับช้างและนาคที่ได้รับการตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์ ปีนี้มีช้าง 17 เชือก นาค 17 องค์ ซึ่งเทศบาลตำบลหาดเสี้ยว ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย จัดขึ้น เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม และเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว
นายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่างานประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว เป็นประเพณีของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ที่มีมายาวนานกว่า 180 ปี โดยจะจัดในช่วงก่อนสงกรานต์ประมาณ 1 สัปดาห์ เป็นการจัดงานบวชให้กับลูกหลานโดยแห่นาคด้วยขบวนช้าง จากคติความเชื่อทางพุทธศาสนาในเรื่องพระเวสสันดรชาดก ที่ก่อนออกผนวชได้ให้ทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ และหลังจากออกผนวชก็เสด็จกลับเมืองด้วยขบวนช้างศึก ภายในงานมีกิจกรรมน่าสนใจ ได้แก่ ขบวน “นั่งช้าง บวชนาค” อันตระการตากับช้างและนาคที่ได้รับการตกแต่งอย่างมีเอกลักษณ์ ของชุมชนชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว สนุกสนานกับขบวนแห่นาคบนหลังช้างที่เต็มไปด้วยเสียงเพลงที่นำขบวนมาด้วยแตรวงและกลองยาว นำหน้าขบวนช้างที่ถูกแต่งแต้มสีสันแปลกตาเต็มตัว โพกผ้าด้วยสีสันสวยงาม
ส่วนนาคนั้นจะแต่งกายด้วยผ้าสีสันสดใส สวมใส่เครื่องประดับ และแต่งหน้าทาปากอย่างงดงาม พร้อมสวมแว่นดำ อันหมายถึง ผู้ที่ยังมืดบอดด้วยปัญญา ยังไม่ได้ศึกษาพระธรรม ที่ศีรษะสวมเทริดอันเป็นเครื่องทรงของพระอินทร์ และเป็นสัญลักษณ์ของหงอนพญานาค หูทั้ง 2 ข้างแขวนด้วยกระจกชิ้นเล็ก เพื่อไว้สำรวจตัวเอง ประนมมือถือสักกัจจัง อันเป็นเครื่องบูชา แห่แหนด้วยช้าง โดยมีขบวนแตรวงและกลองยาว บรรเลงเพลงให้กับผู้ร่วมขบวนได้ฟ้อนรำ เฉลิมฉลองกันอย่างสนุกสนาน ร่วมขบวนฟ้อนรำไปตามถนนรอบเมืองด้วยระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร พร้อมทั้งขบวนช้างจะข้ามแม่น้ำยม แม่น้ำสายหลักในพื้นที่อันเป็นไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวและนักถ่ายภาพปักหลักพากันชมขบวนช้างแห่นาคลงน้ำยมพร้อมทั้งถ่ายภาพบันทึกความทรงจำ
พงศ์เทพ สาคร สุโขทัย