รัฐมนตรีเกษตรฯ ลงพื้นที่ประจวบคีรีขันธ์ เปิดงานวันรณรงค์ป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว และติดตามผลการควบคุมการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าว พร้อม แก้ปัญหาภัยแล้ง แก้ไขปัญหาชลประทานทั้งระบบ
วันที่ 6 เม.ย. 67 ที่สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนบ้านหินเทิน ตำบลแสงอรุณ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกรพทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์ป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว เพื่อถ่ายทอดความรู้ และมอบแตนเบียนบราคอนสำหรับควบคุมกำจัดศัตรูมะพร้าว (หนอนหัวดำ) แก่เกษตรกร 8 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมพบปะเกษตรกร เพื่อรับฟังข้อมูลสถานการณ์ศัตรูมะพร้าวตลอดจนความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทั้งนี้ จากรายงานพื้นที่การระบาดในภาพรวมทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน พบว่าปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 พบการระบาดของหนอนหัวดำ ใน 28 จังหวัด พื้นที่ 16,039.99 ไร่ และแมลงดำหนาม ใน 25 จังหวัด พื้นที่ 14,953.76 ไร่ โดยจังหวัดที่พบการระบาดสูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี เพชรบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม โดยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พบการทำลายของหนอนหัวดำเพิ่มขึ้นช่วงต้นปี 2567 ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอทับสะแก และอำเภอบางสะพาน กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้เร่งนำศัตรูธรรมชาติของหนอนหัวดำ 4 ชนิด ได้แก่ แตนเบียนบราคอน แตนเบียนไข่ทริคโคแกรมม่า แมลงหางหนีบสีดำ และแมลงหางหนีบขาวงแหวน ไปปล่อยในสวนมะพร้าวของเกษตรกร ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 – มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีผลการดำเนินการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IPM) โดยรวม คือ ปล่อยแมลงศัตรูธรรมชาติ 33 ล้านตัว ในพื้นที่ที่มีการระบาดน้อย-ปานกลาง รวมสะสม 18,944.50 ไร่ (พฤศจิกายน 2566 – มีนาคม 2567) ควบคู่กับการใช้สารเคมี จำนวน 10,686 ไร่ (ตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567) โดยก่อนดำเนินการ สำรวจพบหนอนมีชีวิตเฉลี่ย 28 ตัว/ต้น และสำรวจหลังดำเนินการไปแล้ว 1 เดือน พบหนอนมีชีวิตลดลงเฉลี่ยเหลือ 11.1 ตัว/ต้น
สำหรับมาตรการจัดการหนอนหัวดำในระยะต่อไปของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ การให้คำแนะนำในการใช้สารเคมี ควบคู่กับการปล่อยแตนเบียน ในการป้องกันกำจัดในพื้นที่ที่พบการระบาดรุนแรง เพื่อกำจัดหนอนหัวดำ และแมลงดำหนาม ซึ่งการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดทั้งวิธีการฉีดเข้าลำต้นและพ่นทางใบมะพร้าวที่ผ่านมาไม่พบสารตกค้างในน้ำและเนื้อมะพร้าว จึงไม่ส่งผลต่อกระบวนการส่งออก หลังจากใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวแล้วควรเว้นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จึงส่งเสริมการควบคุมศัตรูมะพร้าวด้วยการปล่อยศัตรูทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนติดตามให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าวโดยวิธีผสมผสาน (IPM) เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรในการจัดการศัตรูมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการประเมินประชากรศัตรูมะพร้าว และสำรวจติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างสม่ำเสมอทุกสัปดาห์ ผ่านระบบของกรมส่งเสริมการเกษตร และสนับสนุนพ่อแม่พันธุ์ศัตรูธรรมชาติสำหรับผลิต ขยาย และปล่อย เพื่อควบคุมการระบาดของศัตรูมะพร้าว ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรคาดหมายว่า การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว จะทำให้พื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สามารถควบคุมการระบาดของศัตรูมะพร้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้ เพื่อมาติดตามและรับฟังปัญหาจากเกษตรกรโดยตรง รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องเงื่อนไขการใช้สารเคมีที่ไม่กระทบต่อมะพร้าว ตามที่กรมวิชาการเกษตรได้วิจัยไว้ อีกทั้งยังสนับสนุนการเลี้ยงแตนเบียนที่จะกำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะหนอนหัวดำ นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเร่งทำฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือในช่วงฤดูแล้ง และมอบกรมชลประทานในการสำรวจทำแผนที่น้ำ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เพื่อจัดทำแผนบูรณาการการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ทั้ง 8 อำเภอด้วย
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ศัตรูธรรมชาติแต่ละชนิดที่กรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนให้แก่เกษตรกรชาวสวนมะพร้าวนั้น จะทำลายศัตรูมะพร้าวโดยเฉพาะหนอนหัวดำ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะปล่อยแมลงศัตรูทางธรรมชาติ เพื่อช่วยทำลายหนอนหัวดำมะพร้าวไม่ให้สร้างความเสียหายต่อผลผลิต ป้องกันผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนมะพร้าวได้ ซึ่งผลจากการดำเนินการของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แสดงให้เห็นว่า มาตรการที่กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม และมีแนวโน้มที่การระบาดจะค่อย ๆ คลี่คลายลงไป อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมการเกษตร เร่งผลิตขยายพ่อแม่พันธุ์ศัตรูธรรมชาติเพื่อสนับสนุนให้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน (ศจช.) ผลิตขยายศัตรูธรรมชาติพร้อมใช้ เพื่อควบคุมศัตรูพืชอย่างต่อเนื่องและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและภาคการเกษตรของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรจะเข้ามาให้ความรู้ในการใช้สารเคมีด้านการเกษตรที่ถูกต้อง ซึ่งสารเคมีดังกล่าวจะต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับการยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบต่อมะพร้าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค
ข่าว ณัฐธภพ พันสาย / จ.ประจวบคีรีขันธ์ 0649646443