ศูนย์อุตุนิยมวิทยา ภาคเหนือ เตือนหลังสงกรานต์อาจเกิดลมเปลี่ยนทิศ ให้เฝ้าระวังหมอกควันข้ามแดน
เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 ที่ ห้องปฏิบัติการศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 18/2567
โดยที่ได้ประชุมได้ร่วมกันสรุปข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่าในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งได้นำความห่วงใยและกำลังใจจากนายกรัฐมนตรีมาส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจด้วยความทุ่มเท เสียสละ เพื่อประเทศชาติและประชาชน พร้อมกับระบุว่ารัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเพื่อให้ภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ซึ่งการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า บางปัญหาก็ควบคุมได้ บางปัญหาก็เกินความสามารถที่จะควบคุม โดยเฉพาะเรื่องหมอกควันข้ามแดน โดยรัฐบาลได้ดำเนินการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง และให้ทุกหน่วยงานพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดอย่างเข้มงวด และเร่งดำเนินการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาว ขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันถอดบทเรียน ปรับแผนเผชิญเหตุในอนาคต ประกอบกับการสื่อสารข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ให้ยึดหลัก 2W1H : What (เกิดอะไรขึ้น) How (สื่อสารอย่างไรให้กระชับ ได้ใจความ เข้าใจง่าย) When คาดการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บอกให้ประชาชนรู้ว่าสถานการณ์ในอนาคต แล้วต้องปฏิบัติตนอย่างไร ให้สามารถรับมือได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ ที่ประชุมศนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือรายงานว่า สถานการณ์ PM2.5 มีแนวโน้มลดลงหลังพายุฤดูร้อน แต่หลังจาก วันที่ 17 เมษายน 2567 ทิศทางลมจะมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะกระทบกับประเทศไทยทำให้มีปัญหาเรื่องหมอกควันลอยหมอกควันข้ามแดนมาอีก จึงให้มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ อ.เชียงดาว ซึ่งขณะนี้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 17 จังหวัดภาคเหนือ ยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควันฯ 5 แนวทาง คือ ระดมกำลังลาดตระเวนพื้นที่เสี่ยง, ยกระดับการบังคับใช้กฏหมาย, ควบคุมการเผาอย่างเด็ดขาด, ยกระดับการให้ความช่วยเหลือ และเร่งสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาการจัดทำห้องลดฝุ่น มุ้งลดฝุ่น ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง COPD กว่า 2,000 ราย และผู้ป่วยติดเตียง 6,000 ราย โดยขอให้ท้องถิ่นจังหวัดได้เร่งดำเนินการให้ได้ครอบคลุมอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ก่อน ส่วนการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่น PM2.5 ขอให้จัดหาให้กลุ่มเสี่ยงก่อน โดยหลังจากนี้ สำนักงานสถิติจังหวัดทำการสำรวจการจัดทำข้อมูลความพึงพอใจของประชาชนเพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
นที มีเดช รายงาน