ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นำทีมรองผู้ว่าและคณะ ร่วมทำพิธีสรงน้ำพระ ณ. วัดเสนาสนาราม เนื่องในวันสงกรานต์ 2567
วันที่ 14 เมษายน เวลา 14.00 น. นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วย นายไพรัตน์ เพชรยวน นายธีรศักดิ์ โฉมศิริ นายประพันธ์ ตรีบุบผา รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมด้วยคณะส่วนงานราชการ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมทั้งศิษยานุสิทธิ์และประชาชน ร่วมทำพิธีสรงน้ำพระเทพมงคลโสภณ เจ้าคณะภาค 17-18 (ธรรมยุต) เจ้าอาวาสวัดเสนาสนาราม ณ.ศาลาการเปรียญวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องในวันสงกรานต์ ประจำปี 2567
พระเทพมงคลโสภณ มีนามเดิมว่า โสภณ อุทัยธรรม บรรพชา เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2504 ณ วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมี พระราชเมธากร (หลี) วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ ซึ่งในปี พ.ศ.2553 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ธรรมยุต) และได้รับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค 17-18 (ธรรมยุต) เมื่อปี พ.ศ. 2564 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ พระเทพมงคลโสภณ ปฏิบัติปกครองเหล่าคณะสงฆ์อย่างเคร่งครัดภายใต้ความมีเมตตาธรรมและศีลธรรม รวมถึงเป็นแบบอย่างในการที่จะช่วยผลักดันงานโครงการต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์ในการขับเคลื่อนงานพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองถาวรสืบไป
วัดเสนาสนารามราชวรวิหาร เดิมชื่อวัดเสื่อ สร้างตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาพร้อมพระราชวังจันทรเกษม ที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลกในยามเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงศรีอยุธยา ตัววัดสร้างขึ้นด้านหลังเพื่อเป็นวัดประจำพระราชวัง วัดเสื่อได้เจริญรุ่งเรืองมาพร้อมกับพระราชวังจันทรเกษมและได้กลายเป็นวัดร้างไปคู่กันเมื่อกรุงศรีแตกใน พ.ศ. 2310 จวบจนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ 300 ชั่งเศษและโปรดเกล้าฯ ให้พระยาราชสงคราม (ทัด หงสกุล) เป็นประธานในการบูรณะวัดเสื่อจนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2406 โดยพระราชทานนามใหม่ว่าวัดเสนาสนารามราชวรวิหาร หรือเรียกกันทั่วไปว่าวัดเสนาสน์ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวงชั้นเอกฝ่ายธรรมยุตนิกาย สถาปัตยกรรมงดงามภายในวัดที่น่าชม ได้แก่ พระอุโบสถศิลปะสมัยอยุธยา หน้าบันไม้แกะสลักปิดทอง มีพระราชลัญจกรในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รูปพระมหามงกุฏ บ่งบอกว่าพระองค์เป็นผู้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดนี้ ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเทพชุมนุมและภาพพระราชพิธีเดือนสิบสองที่วาดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระประธานคือ พระสัมพุทธมุนี พระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยลงรักปิดทองศิลปะสมัยอยุธยา ประดับด้วยซุ้มเรือนแก้ว จารึกอักษรขอม ถัดมาคือพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ศิลปะสมัยอยุธยาที่นำศิลามาเรียงต่อกันแล้วแกะสลักยาว 14.2 เมตร ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธไสยาสน์องค์นี้มาจากวัดมหาธาตุ และยังมีพระวิหารพระอินทร์แปลง ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะล้านช้าง หล่อด้วยโลหะสำริดปางมารวิชัย
สุขุม แก้วกุดั่น อยุธยา