จังหวัดลำพูน ประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด เกษตรกรได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ ภัยแล้งรวมถึงฝนฟ้าอากาศแปรปรวน
วันนี้ (22 เม.ย. 2567) นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานฯ ประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกร อันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด จังหวัดลำพูน ครั้งที่ 2/2567 ณ ห้องประชุมหริภุญชัย ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำพูน โดยมีคณะกรรมการฯ เข้าร่วม ที่ประชุมมีการรายงานสถานการณ์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่
1) กระเทียม จังหวัดลำพูนมีพื้นที่เพาะปลูกกระเทียม ปีการผลิต 2566/67 เกษตรกร จำนวน 524 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 1,172.25 ไร่ ผลผลิตรวม 3,389 ตัน(สด) ผลผลิตเฉลี่ย 2.890 ตันสดต่อไร่ แหล่งผลิตสำคัญ คือ อำเภอลี้ จำนวน 1,088.75 ไร่ ผลผลิตกระเทียมสดคละสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว สำหรับกระเทียมแห้งคละ ราคา 50-53 บาท/กก. และกระเทียมแกะกลีบราคา 85-87 บาท/กก.
2) หอมแดง จังหวัดลำพูนมีพื้นที่เพาะปลูกหอมแดง ปีการผลิต 2566/67 เกษตรกร จำนวน 321 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 825 ไร่ ผลผลิตรวม 2,850.54 ตัน(สด) ผลผลิตเฉลี่ย 3.460 ตันสดต่อไร่ แหล่งผลิตสำคัญ คือ อำเภอลี้ จำนวน 607.50 ไร่ ผลผลิตหอมแดงสดคละสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว สำหรับกระเทียมแห้งคละ ราคา 30-35 บาท/กก. และหอมแดงมัดจุก ราคา 38-42 บาท/กก.
3) มะม่วง จังหวัดลำพูน มีพื้นที่เพาะปลูกมะม่วง ปีการผลิต 2567 มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 44,898ไร่ ผลผลิตมะม่วง ครั้งที่ 1 ปริมาณผลผลิตรวม 58,655 ตัน ลดลงจากปีก่อน 5,445 ตัน คิดเป็นร้อยละ 8.49 เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ภาวะการค้า จังหวัดลำพูน มีผู้ประกอบการรับซื้อมะม่วงประมาณ 80 ราย ซึ่งเปิดจุดรับซื้อในช่วงเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม เพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ เช่น จีน มาเลเชีย เวียดนาม กัมพูชา และจำหน่ายภายในประเทศ ในปี 2566 ราคามะม่วงปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากสภาวะภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้ผลผลิตลดลง ด้านราคาซื้อขายมะม่วง ปี 2566 พันธุ์จินหวง ราคา 17 บาท/ กก. อาร์ทูอีทู ราคา 21 บาท/กก. งาช้างแดง ราคา 19.50 บาท/กก. แดงจักพรรดิ์ ราคา 19.50 บาท/กก. และเขียวมรกต ราคา 13 บาท/กก. โดยอำเภอบ้านโฮ่ง มีพื้นที่ปลูกสูงสุด 23,250 ไร่
4) ลำไย จังหวัดลำพูน มีพื้นที่เพาะปลูกลำไย ปีการผลิต 2567 มีพื้นที่เพาะปลูกรวม 255,287 ไร่ ผลผลิต 260,041 ตัน(สด) ผลผลิตเฉลี่ย 1,019 ตันสดต่อไร่ แหล่งผลิตสำคัญ คือ อำเภอลี้ รองลงมา คือ อำเภอป่าซาง และแม่ทา ตามลำดับ โดยผลผลิตลำไยในฤดูจะเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนมิถุนายน – กันยายน และออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงปลายเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ด้านราคาซื้อ-ขายเฉลี่ย(ในฤดู) ปี 2566 ดังนี้
- ลำไยสดร่วง เกรด AA ราคา 28.50 บาท/กก. เกรด A ราคา 17 บาท/กก. เกรด B ราคา 9 บาท/กก. เกรด C ราคา 3 บาท/กก.
- ลำไยมัดปุ๊ก เกรด AA+A ราคา 31.50 บาท/กก. เกรด A+B ราคา 24 บาท/กก. เกรด B+C ราคา 17.50 บาท/กก.
- ลำไยสดร่วง เกรด AA(ทอง) ราคา 35 บาท/กก. เกรด A(แดง) ราคา 34 บาท/กก. เกรด B(น้ำเงิน) ราคา 25 บาท/กก. เกรด C(เขียว) ราคา 15 บาท/กก.
ทั้งนี้ ลำไยในฤดู ปี 66 ราคาปรับตัวสูงขึ้นจาก ปี 65 เนื่องจาก ผลผลิตลดลงมาก บางส่วนถูกส่งไปยังโรงงานแปรรูปลำไยกระป๋องและลำไยคว้าน เพื่อทำน้ำลำไยสด ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จึงทำให้มีการแข่งขัน ด้านราคาค่อนข้างสูง ประกอบกับผู้ประกอบการลำไยอบแห้งไม่มีสต๊อกคงเหลือไว้เลย
สำหรับสถานการณ์ลำไย ปีการผลิต 2567 จังหวัดลำพูน มีเกษตรกรผู้ปลูกลำไย 52,907 ครัวเรือน เนื้อที่ยืนต้น 362,304 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 349,536 ไร่ ผลผลิตทั้งหมด 370,561 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,060 กก./ไร่ คาดการณ์ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวลำไยในฤดู(มิ.ย.-ก.ย.) ผลผลิต 246,496 ตัน คิดเป็นร้อยละ 66.52 ลำไยนอกฤดู(ม.ค.-พ.ค.) และ (ต.ค. – ธ.ค.) ผลผลิต 124,065 คิดเป็นร้อยละ 33.48 ด้านสถานการณ์การติดผลของลำไยในฤดู ทั้ง 8 อำเภอ พื้นที่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ช่อดอกที่ออกมาตามธรรมชาติ รวมถึงการกระตุ้นโดยสารโพแทสเซียมคลอเรตหรือโซเดียมคลอเรต แต่ไม่มีแหล่งน้ำเพื่อบำรุงช่อดอก ทำให้ช่อดอกที่ออกมาไม่ยืด ช่อแห้ง รวมถึงการผสมเกสรตามธรรมชาติ ผสมไม่ติด เพราะต้องอาศัยความชื้น รวมถึงแมลงในการช่วยผสมเกสร เช่น อำเภอทุ่งหัวช้าง รายงานเบื้องต้น ผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก 844 กิโลกรัมต่อไร่ เหลือ 738 กิโลกรัมต่อไร่ รวมถึงพื้นที่อำเภอลี้
ผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก 998 กิโลกรัมต่อไร่ เหลือเพียง 914 กิโลกรัมต่อไร่ ทำให้เฉพาะ 2 อำเภอที่กล่าวมานี้ ผลผลิตลดลงจากการประเมินครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดลำพูน จากผลผลิต 158,106 ตัน คงเหลือ 144,059 ตัน ลดลงประมาณ 14,047 ตัน ทั้งนี้ หากผ่านช่วงพัฒนาผล ตั้งแต่เดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2567 ก็จะทำให้สามารถประมาณการณ์ตัวเลขผลผลิตได้แม่นยำขึ้น เพราะผลผลิตลำไยจะเผชิญวิกฤตกับฝนทิ้งช่วงซึ่งเป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์ เอลนีโญ อาจทำให้ลำไยสลัดลูกทิ้ง ทั้งนี้พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอลี้ และอำเภอทุ่งหัวช้าง เป็นการผลิตลำไยแบบอาศัยน้ำฝนปริมาณผลผลิตจึงแปรผันตรงกับน้ำฝนด้วย
ด้านสถานการณ์มะม่วง ปีการผลิต 2567 จังหวัดลำพูน มีเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง 11,072 ครัวเรือน เนื้อที่ยืนต้น 44,127 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 39,763 ไร่ ผลผลิตทั้งหมด 48,412 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 1,218 กก./ไร่ส่วนสถานการณ์การผลิตมะม่วง ทุกอำเภอในพื้นที่จังหวัดลำพูน ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ ภัยแล้งรวมถึงฝนฟ้าอากาศแปรปรวน ทำให้ปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดในปีการผลิต 2567 นี้ ลดลงทุกสายพันธุ์ จากการประมาณการณ์เบื้องต้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 ผลผลิตคาดการณ์ทั้งหมดจำนวน 58,655 ตัน คงเหลือ 48,412 ตัน เนื่องจากช่อดอกที่ออกมากระทบอากาศแห้งแล้ง ทำให้ช่อไหม้ ผสมเกสรไม่ติด ยกเว้นมะม่วงรุ่นที่กระตุ้นให้ออกนอกฤดูซึ่งเก็บผลผลิตในช่วงมีนาคม – เมษายน 67 ซึ่งทาง อำเภอเวียงหนองล่อง มีเกษตรกรที่ทำมะม่วงนอกฤดู ก็สามารถขายผลผลิตได้ราคาค่อนข้างจะดีมาก สถานการณ์รายอำเภอ เช่น อำเภอลี้ มะม่วงอาจจะให้ผลผลิตแค่ 20 % ของทุกปี อำเภอบ้านโฮ่ง ผลผลิตมะม่วงลดลงถึง 200 – 300 กิโลกรัมต่อไร่ อำเภอป่าซาง ผลผลิตมะม่วงลดลงถึง 50 % ซึ่งก็เป็นผลมาจากสภาพอากาศ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วเบื้องต้น
นที มีเดช รายงาน