ข่าวใหม่อัพเดท » “ต่อกล้าอาชีวะ” ปี 67 ปั้นนวัตกรสายอาชีวะ สู่ Young Smart IoT Technician ด้วย IIoT เสริมแกร่งแรงงานในหลากอุตสาหกรรม S-Curve มุ่งสู่ Industry 4.0

“ต่อกล้าอาชีวะ” ปี 67 ปั้นนวัตกรสายอาชีวะ สู่ Young Smart IoT Technician ด้วย IIoT เสริมแกร่งแรงงานในหลากอุตสาหกรรม S-Curve มุ่งสู่ Industry 4.0

27 เมษายน 2024
0

“ต่อกล้าอาชีวะ” ปี 67 ปั้นนวัตกรสายอาชีวะ สู่ Young Smart IoT Technician ด้วย IIoT เสริมแกร่งแรงงานในหลากอุตสาหกรรม S-Curve มุ่งสู่ Industry 4.0

วันที่ 25 เมษายน 2567 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (สวทช.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพในการพัฒนาผลงาน โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ปี 2567 : พัฒนา Young Smart IoT Technician ในระหว่างวันที่ 24-28 เมษายน 2567 มุ่งเสริมทักษะและความเข้าใจเทคโนโลยีด้าน IoT ให้กับผู้สอนและนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา โดยนักศึกษาจะได้พัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญ อาทิ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานเป็นทีม ด้านอาจารย์มีทักษะการเป็นโค้ชสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนการสอน เสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาให้พร้อมไปสู่การทำงานจริงในภาคอุตสาหกรรม หวังบ่มเพาะเยาวชนเป็นแรงงานนำองค์ความรู้เสริมกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการสู่ Industry 4.0 ในหลายอุตสาหกรรม S-Curve โดยเฉพาะอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะในอนาคต

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้าน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งการพัฒนาบุคลากรวิจัย การสร้างแรงบันดาลใจ และการอัพสกิล-รีสกิลให้บุคลากรทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมถึงการร่วม พัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มทักษะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม (Careers for the Future) และส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้าน วทน. ไปสู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ ในส่วนของ เนคเทค ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนนักศึกษาระดับอาชีวะศึกษาที่มีทักษะด้านดิจิทัล และเชื่อว่าเทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IoT) เป็นหนึ่งทักษะพื้นฐานสำคัญเพื่อที่จะช่วยยกระดับกระบวนการผลิตของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ Industry 4.0 อีกทั้งยังสอดคล้องกับผลสำรวจของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเรื่องทักษะแรงงานในกระบวนการผลิตที่ผู้ประกอบการต้องการในปัจจุบันที่ต้องมีทักษะทางด้าน IIoT เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยตามแผนอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศ

เนคเทคได้เริ่มนำร่องด้วยการพัฒนาหลักสูตร IoT และ IIoT ช่วยในพัฒนาทักษะนักศึกษาระดับอาชีวะศึกษา ทางด้านเทคโนโลยี IoT ตามโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องการ ได้แก่ Productivity, OEE, Production line monitoring, Warehouse management เป็นต้น ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้สัมผัสกับเครื่องมืออุปกรณ์ที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังจะได้รับการพัฒนาทักษะอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะด้าน Soft Skills ตลอดจนแนวคิดแบบ Enterpreneur โครงการต่อกล้าอาชีวะมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและนับเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาทักษะให้กับกลุ่มอาชีวะที่ดีที่สุดหลักสูตรหนึ่งในประเทศ

ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ โฆษกประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ากระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การอาชีวศึกษา โดยคำนึงถึงบริบทของประเทศ ความต้องการของตลาดแรงงาน และทิศทางการพัฒนาของประเทศ มีความยินดีที่ทุกภาคส่วนทั้งภาคศึกษา ภาครัฐ และเอกชน ต่างร่วมมือกันดำเนินงานส่งเสริมทักษะของเยาชนสายอาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของ กระทรวงศึกษาธิการ

  1. ผลิตและพัฒนากำลังคนสายอาชีพ ให้เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพและสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ
  2. เพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการเรียนรู้วิชาชีพ ด้วยรูปแบบวิธีการที่ยืดหยุ่น หลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพของคนทุกช่วงวัย
  3. เสริมสร้างและขยายภาคีเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการระดมทรัพยากร และยกระดับคุณภาพ การอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ
  4. การยกระดับคุณภาพหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์การศึกษาแห่งอนาคต และเชื่อมโยงกับมาตรฐานอาชีพหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานทั้งในระดับชาติและระดับสากล
  5. การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสูงขึ้น
  6. พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้และการบริหารจัดการด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัล

ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า โครงการต่อกล้าอาชีวะมีเป้าหมายสอดคล้องกับแผนพัฒนาการอาชีวศึกษา พ.ศ.2560–2579 มีภารกิจในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านวิชาชีพในระดับฝีมือ (ปวช.) ระดับเทคนิค (ปวส.) และระดับเทคโนโลยี (ปริญญาตรี สายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ) รวมทั้งการฝึกอบรมวิชาชีพจะช่วยเพิ่มพูนความรู้และการฝึกทักษะอาชีพให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรม คุณภาพ มุ่งหวังให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล โดยความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมถือเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาทักษะแรงงานไทย ตอบโจทย์ความต้องการของสถานประกอบการ รวมถึงการประกอบอาชีพอิสระให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานในระดับสากล ขยายโอกาสทางการศึกษาทางวิชาชีพให้กับประชาชนทุกช่วงวัย

คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทย โดยให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องจึงได้ร่วมมือกับ เนคเทค สวทช. ดำเนินกิจกรรม โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ซึ่งมีแผนการดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อการพัฒนาทักษะกำลังคนด้านดิจิทัลในระดับอาชีวศึกษา สร้างกลุ่ม Young Smart Technician สำหรับนักเรียน นักศึกษา และพัฒนาครูให้เป็น Technician Coaching Teacher ให้มีคุณภาพรองรับความต้องการของผู้ประกอบการและอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นสิ่งสำคัญที่ควรเร่งดำเนินการ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับรองรับภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

ดร.กัลยา อุดมวิทิต รองผู้อำนวยการเนคเทค (สวทช.) กล่าวว่า โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ปี 2567 ภายใต้หัวข้อ “พัฒนา Young Smart IoT Technician” มุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี Industrial Internet of Things (IIoT) อันเป็นทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ให้กับน้องๆ เยาวชนอาชีวะศึกษา ผ่านการทำโครงงานที่มีโจทย์มาจากสถานประกอบการเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ เป็นการบูรณาการความรู้จากห้องเรียนไปสู่การประยุกต์ใช้งานจริง นักศึกษาสามารถเลือก IoT Platform ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการพัฒนาทักษะทางด้าน soft skill ต่าง ๆ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานเป็นทีม อาจารย์มีทักษะการเป็นโค้ช สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาให้พร้อมไปสู่การทำงานจริง

โดยในปีแรก ปี 2567 เน้นการพัฒนา Yong Smart IoT Technician ปี 2567 โครงการฯ จะนำร่องการสร้างกลุ่ม Young Smart Technician ด้วย เทคโนโลยี IIoT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการยกระดับกระบวนการผลิตสู่ Industry 4.0 และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรม S-Curve นอกจากนี้ยังวางแผนพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ที่เหมาะสม ทั้งกับครูผู้สอนและนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา เพื่อตอบเป้าประสงค์หลัก 3 ข้อ ได้แก่

อาจารย์และนักศึกษามีทักษะและความเข้าใจ เทคโนโลยีด้าน IoT ทั้งทักษะการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การเชื่อมต่ออุปกรณ์กับระบบอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการเลือก IoT Platform ได้เหมาะสมกับปัญหาและสถานการณ์ นักศึกษาพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็น นักนักศึกษามีทักษะการคิดวิเคราะห์, ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์, ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานเป็นทีม และอาจารย์มีทักษะการเป็นโค้ช เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาให้พร้อมไปสู่การทำงานจริง อาจารย์และนักศึกษาเข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อการจัดการเรียนการสอนและพร้อมสำหรับการฝึกประสบการณ์ในภาคอุตสาหกรรมภาคเอกชนเห็นความสามารถของนักศึกษา ก่อนรับเข้าฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ

โดยโครงการฯ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 มีอาจารย์และน้องๆ สมัครเข้าร่วมโครงการ 36 ทีม จากสถาบันอาชีวศึกษา 25 สถาบัน ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ เป้าหมายคัดเลือกเพียง 20 ทีมเท่านั้นที่ผ่านเข้ามาร่วมค่ายการอบรมซึ่งในวันนี้ได้น้องๆ ทั้งหมด 19 ทีม จาก 12 สถาบัน ใน 10 จังหวัด ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงาน จำนวน 30,000 บาท และชุดอุปกรณ์สื่อการสอน Rasbery Pie จำนวน 2 ชุด ให้กับอาจารย์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในการเรียนการสอนวิทยาลัย


สุรเชษฐ ศิลานนทื รายงาน

error: Content is protected !!