สสว. เผยดัชนี SMESI เดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 53.0 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัวลง ส่งผลต่อภาคการบริการ และภาคการค้าเป็นหลัก ขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการผลิตเพื่อเตรียมรองรับและชดเชยวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงระดับความเชื่อมั่น ภาคธุรกิจการเกษตรปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME (SMESI) ประจำเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 53.0 ซึ่งปรับตัวลดลงจากระดับ 53.7 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 สาเหตุมาจากคำสั่งซื้อและกำไรในภาคการค้าและภาคการบริการที่ชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศและปัจจัยด้านกำลังซื้อ ในขณะที่ภาคการผลิตมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเพื่อเตรียมรองรับและชดเชยวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงภาคธุรกิจการเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาตามดัชนีองค์ประกอบ เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ด้านกำไร คำสั่งซื้อโดยรวม และการลงทุนโดยรวม อยู่ที่ระดับ 54.8 59.9 และ 52.3 ลดลงมาจากระดับ 58.8 63.8 และ 52.3 ขณะที่ด้านต้นทุนรวม (ต่อหน่วย) ปริมาณการผลิต/การค้า/การบริการ อยู่ที่ระะดับ 40.7 และ 59.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 37.7 และ 59.2 สำหรับองค์ประกอบด้านการจ้างงานค่อนข้างทรงตัวอยู่ที่ระดับ 50.6 ดัชนี SMESI รายสาขาธุรกิจ พบว่า ภาคการบริการและภาคการค้า อยู่ที่ระดับ 52.8 และ 51.9 ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.0 และ 53.3 เนื่องจากกำลังเผชิญกับปัจจัยกำลังซื้อและภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค ทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภคและสินค้าฟุ่มเฟือยหลายรายการ อีกทั้งเป็นช่วงชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศทำให้สาขาที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยว กิจกรรมการบริการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ มีแนวโน้มลดลง ในทางกลับกันภาคการผลิตและภาคธุรกิจการเกษตร อยู่ที่ระดับ 54.2 และ 57.6 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 52.3 และ 55.9 มีสาเหตุจากต้นทุนราคาสินค้ารวมถึงราคาสินค้าเกษตรทั้งพืชไร่และพืชสวน
ดัชนี SMESI รายภูมิภาค เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า ค่าดัชนี SMESI เกือบทุกภูมิภาคปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาด ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือเติบโตค่อนข้างใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าและภาคใต้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน รายละเอียด ดังนี้
- ภาคเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ 53.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 56.4 มีสาเหตุมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดรวมถึงฝุ่น PM 2.5 เป็นปัจจัยหลักที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงกระทบต่อภาคการค้า อย่างไรก็ตามกลุ่มการผลิตยาและสมุนไพรยังขยายตัวดี เช่น เครื่องดื่มชาแปรรูป สมุนไพรสำหรับชง เป็นต้น
- เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ค่าดัชนีอยู่ที่ 52.7 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.1 เนื่องจากกำลังซื้อที่ชะลอลงจากกิจกรรมการท่องเที่ยวส่งผลกระทบโดยตรงกับยอดขายของธุรกิจภาคการค้าและภาคการบริการ โดยเฉพาะกับสินค้าคงทน ทั้งวัสดุก่อสร้าง ในขณะที่ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากปัจจัยด้านต้นทุนเป็นสำคัญ และการเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับเทศกาลสงกรานต์
- ภาคกลาง ค่าดัชนีอยู่ที่ 51.3 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.9 โดยภาคธุรกิจชะลอตัวลง ยกเว้นกลุ่มธุรกิจการเกษตรที่ยังปรับดีขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และภาคการผลิตในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์พลาสติก ในขณะที่ภาคการค้าและภาคการบริการชะลอตัวลงตามกำลังซื้อที่ปรับลดลง
- ภาคตะวันออก ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 54.6 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 55.3 ผลจากภาคเศรษฐกิจชะลอตัวลงจากยอดขายในภาคบริการ เป็นหลัก รวมถึงผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นตามสภาพอากาศที่ร้อนจัด ในขณะที่ภาคธุรกิจการเกษตร ภาคการค้า และภาคการผลิตยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะการเร่งกำลังการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเวลาถัดไป เช่น ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ค่าดัชนีอยู่ที่ระดับ 52.5 ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.6 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจในพื้นที่ทรงตัว โดยธุรกิจภาคการผลิต และภาคธุรกิจการเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะกับธุรกิจการเกษตรที่มีกำไรเพิ่มขึ้นชัดเจน จากราคาขายสินค้าที่ปรับสูงขึ้นตามการเริ่มขาดแคลนของสินค้าในตลาด ในขณะที่ภาคการค้าและการบริการชะลอลงเล็กน้อย
- ภาคใต้ ค่าดัชนีอยู่ที่ 53.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.5 เป็นผลดีมาจากต้นทุนราคาสินค้าที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะจากต้นทุนค่าขนส่ง ทำให้ราคาต้นทุนสินค้าหลายรายการในภาคใต้ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะภาคการผลิต ส่วนภาคการค้าและภาคการบริการยังได้ผลดีจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังอยู่ในระดับสูงทั้งมาเลเซีย รัสเซีย จีน เป็นต้น
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 53.2 มีแนวโน้มคงตัว โดยภาคเหนือ และภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้จากธุรกิจภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ภาคอื่นๆ ระดับความเชื่อมั่นปรับลดลงจากค่าคาดการณ์ของเดือนก่อนเป็นผลจากกำลังซื้อและกำไรที่ชะลอตัวเป็นสำคัญตามทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านต้นทุนมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องสอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง
นอกจากนี้ สสว. ได้ทำได้การสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการ SME พบว่า ความช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการ SME ต้องการมากที่สุดยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับภาระหนี้สิน และเงินทุน ทั้งในภาคหนี้สินครัวเรือน และภาคธุรกิจ เช่น การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มาตรการพักชำระหนี้และการแก้ไขปัญหาหนี้เสีย เป็นต้น สำหรับความช่วยเหลือด้านต้นทุนคือต้องการให้ช่วยเหลือเรื่องการลดค่าสาธารณูปโภค การควบคุมราคาสินค้า/วัตถุดิบ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงในช่วงนี้ปัจจัยด้านกำลังซื้อที่เริ่มชะลอตัวลง ผู้ประกอบการ SME จึงต้องการให้ภาครัฐออกนโยบายหรือมาตรการที่กระตุ้นการใช้จ่าย มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว หรือการส่งเสริมการสร้างรายได้และอาชีพ เพื่อสร้างกำลังซื้อที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SME ยังต้องการให้ภาครัฐช่วยเพิ่มศักยภาพธุรกิจเพื่อผลักดันไปสู่การเปิดตลาดในต่างประเทศ
ทั้งนี้ SME สามารถค้นหาบริการหรือความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชนหรือ สถาบันการเงิน ฯลฯ ได้ตามความเหมาะสมกับความต้องการประกอบธุรกิจของท่านได้ที่ https://www.smeone.info ของ สสว.หรือสามารถรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจผ่าน Application SME CONNEXT หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร โทร.1301
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน