ผมหลงดีใจไปกับคำพูดของนายกฯ เศรษฐาที่คุยว่ามีนักลงทุนจากหลายประเทศทั้งจีน ญี่ปุ่น แขก และฝรั่งสนใจที่จะมาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ “ระนอง-ชุมพร” ได้แต่รอฟังข่าวดีว่าจะมีนักลงทุนหน้าไหนใจถึงขนเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท มาลงทุนที่ด้ามขวานทองของเรา แต่จนถึงบัดนี้ ยังเงียบกริบ ทำให้เป็นห่วงว่าโครงการที่นายกฯ ทุ่มเวลาไปโรดโชว์ในหลายประเทศจะเป็นจริงได้อย่างไร ?
1. นายกฯ “นักลงทุนหลายประเทศสนใจแลนด์บริดจ์ไทย”นายกฯ เศรษฐานำโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ไปโรดโชว์ต่อนักลงทุนในหลายประเทศในโอกาสต่างๆ แล้วให้ข่าวว่าแลนด์บริดจ์ของไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุนหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น อเมริกา ซาอุดิอาระเบีย และเอมิเรตส์ เป็นต้น ทำให้คนไทยที่อยากให้โครงการนี้เป็นรูปธรรมเสียทีต่างดีใจที่เห็นว่าโครงการนี้ “เนื้อหอม”ผมเองก็เอาใจช่วยนายกฯ เศรษฐา อยากให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนในโครงการนี้จริงๆ แต่รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่เห็นมีนักลงทุนสักรายที่แสดงท่าทีว่าจะขนเงินก้อน “มหาศาล” มาลงทุนจริงๆ
2. ในอดีตต่างชาติก็เคย “แสดงความสนใจ” แลนด์บริดจ์ไทยเหมือนกันในปี 2551 บริษัท ดูไบเวิลด์จากเอมิเรตส์ได้แสดงความสนใจที่จะลงทุนในโครงการนี้ โดยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นผู้สนับสนุนเงินว่าจ้างบริษัทจากเนเธอร์แลนด์ให้ทำการศึกษาความเป็นได้โครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งในขณะนั้นโครงการนี้มีมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาทนอกจากนั้น ยังมีบริษัทจากจีน คูเวต ซาอุดิอาระเบีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ที่เฝ้าจับตามองโครงการนี้เช่นเดียวกันแต่อย่างไรก็ตาม “ความสนใจ” จากนักลงทุนต่างชาติดังกล่าวก็ไม่ได้นำไปสู่การทำให้โครงการเป็นรูปธรรม แลนด์บริดจ์ไทยยังคงเป็นแค่เพียงโครงการที่ถูกหยิบยกมาหาเสียงเมื่อถึงคราวเลือกตั้งเท่านั้นจึงเกิดเป็นคำถามว่า “เหตุที่นักลงทุนต่างชาติเงียบไป เป็นเพราะแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มทุน ใช่หรือไม่ ?”
3. แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร จะ “ร่นเวลา” และ “ลดต้นทุน” ได้จริงหรือ ?
หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร จะช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนค่าขนส่งเมื่อเทียบกับช่องแคบมะละกาได้จริงหรือ ? ถ้าประหยัดได้ ก็จะมีเรือมาใช้บริการ แต่ถ้าไม่ได้ จะมีเรือที่ไหนมาใช้บริการล่ะ ?
ผมได้สอบถามผู้ประกอบการเดินเรือในมหาสมุทรหลายราย ต่างก็ส่ายหน้าบอกว่าไม่มาใช้แลนด์บริดจ์แน่ เพราะจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แลนด์บริดจ์จะไม่ช่วยประหยัดทั้งเวลาและต้นทุน !
เขาแจงว่า การขนส่งสินค้าจากเรือฝั่งหนึ่งขึ้นรถบรรทุกหรือรถไฟไปอีกฝั่งหนึ่ง พอไปถึงจะต้องขนจากรถบรรทุกหรือรถไฟลงเรืออีก จะทำให้เสียเวลานานมาก เสียเวลาการขนถ่ายสินค้ามากกว่าเวลาที่ประหยัดได้จากการเปลี่ยนจากช่องแคบมะละกามาแลนด์บริดจ์
โดยสรุป การใช้แลนด์บริดจ์จะทำให้ใช้เวลานานขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วยเขายกตัวอย่างการขนถ่ายคอนเทนเนอร์ซึ่งต้องใช้เวลานาน เนื่องจากการจัดวางคอนเทนเนอร์จะต้องมีการวางแผน คอนเทนเนอร์ที่หนักกว่าจะต้องอยู่ข้างล่าง คอนเทนเนอร์ที่จะถึงจุดหมายปลายทางก่อนจะต้องอยู่ข้างบน ด้วยเหตุนี้ การขนถ่ายคอนเทอนเนอร์จะต้องใช้เวลานาน เรือที่บรรทุกคอนเทนเนอร์นับหมื่นตู้ยิ่งต้องใช้เวลานานมากขึ้น
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้มีโอกาสไปสังเกตการขนถ่ายสินค้าขึ้น-ลงเรือ โดยได้นั่งเรือขนส่งสินค้าจากท่าเรือในกรุงเทพฯ ไปท่าเรือแหลมฉบัง พบว่าการขนถ่ายคอนเทนเนอร์ต้องใช้เวลามากจริงๆ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้แปลกใจว่าเหตุใด สนข.จึงศึกษาความเป็นไปได้โครงการนี้แล้วบอกว่า “คุ้มทุน” ช่างแย้งกับความเห็นของผู้ประกอบการเดินเรือและผู้รู้เสียเหลือเกิน !
4. สรุป
รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์เป็นทั้งทางผ่านและศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าสู่ทั่วโลก แม้ว่าประเทศไทยของเราจะมีทำเลที่ตั้งยอดเยี่ยม แต่แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ก็ไม่สามารถ “ร่นเวลา” และ “ลดต้นทุน” ได้เมื่อเปรียบเทียบกับคูแข่งที่น่ากลัวคือช่องแคบมะละกา เป็นผลให้มีเรือมาใช้บริการน้อย
เป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้แลนด์บริดจ์เป็นทางผ่านก็คงริบหรี่ ด้วยเหตุนี้ การปั้นให้บริเวณนี้เป็นศูนย์กลางการผลิตและกระจายสินค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทำได้ก็จะมีเรือจำนวนมากมาใช้บริการแน่นอน แต่จะมีปัจจัยอะไรที่จะดึงดูดผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ให้ย้ายฐานการผลิตมาที่ “ระนอง-ชุมพร” ?
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์