“ศุภมาส” ชื่นชมความสำเร็จของคณะทีมเยาวชนไทยที่คว้ารางวัลโครงงานวิทย์ฯ ระดับโลก ISEF 2024 พร้อมขอให้นำความสำเร็จไปเป็นแรงผลักดันเพื่อต่อยอดในการพัฒนาและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ
เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล: ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้การต้อนรับคณะทีมเยาวชนไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์สำหรับเยาวชน ระดับโลก REGENERON ISEF 2024 และสามารถคว้ารางวัลสร้างความภาคภูมิใจให้ประเทศไทยได้สำเร็จ ในโอกาสเข้าพบพร้อมร่วมแสดงความยินดีและมอบโอวาทให้แก่เยาวชน โดยมี น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว., น.ส.สุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง อว., ศ.ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และ น.ส.อารยา ภู่พานิช รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกิจกรรมเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมด้วย
น.ส.ศุภมาสฯ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับความสำเร็จของตัวแทนทีมเยาวชนไทย ได้แก่ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย กรุงเทพฯ,ร.ร.ดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จ.เชียงราย,ร.ร.ปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่, ร.ร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี จ.ปทุมธานี, ร.ร.กำเนิดวิทย์ จ.ระยอง, ร.ร.ห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จ.เชียงราย และ ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม จ.เชียงใหม่ พร้อมชื่นชมเยาวชนที่นำความรู้ความสามารถไปแสดงบนเวทีระดับโลก ร่วมกับทีมเยาวชนจากทั่วโลกและสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศไทย ซึ่งผลงานของทีมเยาวชนไทยในครั้งนี้ ถือว่าเป็นความสำเร็จของเยาวชนและทุกหน่วยงานที่สนับสนุนเหล่าเยาวชนไปสู่เวทีแข่งขันระดับโลกในครั้งนี้ เพราะเยาวชนไทยสามารถพัฒนาผลงานโครงงานวิทยาศาสตร์ออกมาได้อย่างโดดเด่นจนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยสำเร็จ ด้วยการคว้า 13 รางวัลใหญ่ ประกอบด้วยรางวัล Grand Awards จำนวน 9 รางวัลใหญ่ และรางวัล Special Awards จำนวน 4 รางวัล ในหลากหลายสาขา อาทิ สาขาสัตวศาสตร์,สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์,สาขาพฤกษศาสตร์,สาขาหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลปัญญาประดิษฐ์,สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ปริวรรต และ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม โดยตนขอให้เยาวชนทุกคนนำความสำเร็จครั้งนี้ไว้เป็นแรงผลักดันเพื่อต่อยอดในการพัฒนาและสร้างประโยชน์ในวงกว้างให้กับประเทศไทยต่อไปในอนาคต
ด้านตัวแทนทีมเยาวชน นายกรกฤต ต้นพงษ์พันธุ์ จาก ร.ร.กำเนิดวิทย์ ที่ได้รับรางวัลได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 2 ในสาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ เจ้าของโครงงานการศึกษาผลของมุมยอดของรูปทรงสามเหลี่ยม ที่มีผลต่อการไหลแบบ Acoustic streaming ได้กล่าวว่า ดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมาก ต้องขอขอบคุณ กระทรวง (อว.) สมาคมวิทยาศาสตร์ฯ และ อพวช.ที่ช่วยผลักดันและเตรียมความพร้อมในการแข่งขันให้พวกเราจนสามารถคว้ารางวัลมาได้สำเร็จ ซึ่งโครงงานนี้พวกเราศึกษาผลของมุมยอดรูปทรงของสามเหลี่ยมที่มีมุมยอดขนาดแตกต่างกันว่าจะมีผลต่อการไหลของน้ำอย่างไร โดยเราใช้การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์และการทดลองในห้องปฏิบัติการ และพบว่าจากการทดลองทั้ง 2 แบบเมื่อสามเหลี่ยมมีมุมยอดน้อยจะสั่นและทำให้เกิดการไหลของน้ำในทิศทางที่พุ่งออกจากสามเหลี่ยม ส่วนสามเหลี่ยมที่มุมใหญ่มากๆ จะทำให้น้ำไหลกลับมาที่สามเหลี่ยมแทน ซึ่งสิ่งนี้สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการอธิบายปรากฏการณ์ของฟิสิกส์ต่างๆ อย่างที่ไม่เคยมีนักวิจัยทำมาก่อน โดยโครงงานฯ นี้ ในอนาคตจะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการควบคุม Microrobots ในเลือดและร่างกายของคนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ด้าน น.ส.สิริปภา ปันทุราภรณ์ และน.ส.สิริอาภา ปันทุราภรณ์ ทีมเยาวชนจาก ร.ร.มงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม ที่ได้รับรางวัล Special Award อันดับที่ 2 จากหน่วยงาน : U.S. Agency for International Development กับโครงงานการพัฒนาแผ่นอนามัยออร์แกนิกจากเส้นใยพืชเคลือบสารสกัดมะขามป้อม กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นตัวแทนประเทศซึ่งพวกเราตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ที่สำคัญเราได้นำเสนอเรื่องปัญหาสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงในด้านการเข้าถึงผ้าอนามัยของผู้หญิงที่ทุกคนพึงมีและการใช้ผ้าอนามัยที่ต้องมีคุณภาพ ถือว่าเป็นก้าวสำคัญแห่งความภาคภูมิใจที่เราได้พูดเรื่องนี้บนเวทีระดับโลก โดยการพัฒนาแผ่นอนามัยออร์แกนิกที่ทำจากเส้นใยพืชเคลือบสารสกัดหยาบจากมะขามป้อมครั้งนี้ จะส่งสริมการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนตามเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ สุดท้ายอยากขอบคุณคุณครูที่ปรึกษาที่คอยเป็นแรงสนับสนุนที่ดีในทุกด้าน และขอบคุณทางโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ครั้งที่ 26 (YSC 2024) โดย (สวทช.) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ร่วมสนับสนุนพวกเราไปคว้าชัยในครั้งนี้
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน