บพข. ยกทัพนักวิจัยสนับสนุนการประชุมสัมมนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนประเทศไทย ครั้งที่ 2 ที่เกาะลันตา นำเสนองานวิจัยใช้ได้จริง: Carbon Neutral Tourism – ก้าวใหม่สู่ Net Zero Tourism
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส (สกสว.) และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (บพข.) พร้อมคณะนักวิจัยร่วมสนับสนุนการประชุมสัมมนาการท่องเที่ยวเกาะอย่างยั่งยืนประเทศไทย ครั้งที่ 2 ณ หาดคลองดาว อำเภอลันตา จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 6-8 มิถุนายน 2567 ภายใต้แนวคิด “ผนึกพลังคุณค่า สร้างมูลค่าใหม่ของเกาะไทย” เนื่องในวันมหาสมุทรโลก ด้วยความร่วมมือของประชาคมชาวเกาะ จำนวน 33 เกาะ ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย จำนวน 31 องค์กร โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ร่วมเวทีเสวนา “ยุทธการเขย่าเกาะ ผนึกพลังคุณค่า สู่มูลค่าใหม่ของเกาะไทย” และนำเสนอเรื่อง การท่องเที่ยวเกาะคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (CNT Routes) 183 เส้นทาง ที่สามารถขายได้ในตลาดต่างประเทศ โดยมีรูปแบบการรับรองตนเอง/มีส่วนร่วมกับคู่ค้าที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และจัดทำ Zero Carbon Application (PCR บริการท่องเที่ยว) ซึ่งมีผู้ใช้งานมากว่า 400 รายต่อเดือน ชดเชยคาร์บอนเฉลี่ยเดือนละ 31.5 tCO2eq (ข้อมูล พ.ย.66-พ.ค.67) สนับสนุนการขายคาร์บอนเครดิตขนาดเล็กสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว (ตลาดคาร์บอนไทย) ขับเคลื่อนพื้นที่ 23 เกาะให้เป็น CNT Destination แบ่งเป็นเกาะในฝั่งทะเลอันดามัน 9 เกาะ ได้แก่ เกาะลันตา เกาะคอเขา เกาะพระทอง เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย เกาะปู เกาะจัม เกาะศรีบอยา เกาะลิบง และเกาะในฝั่งอ่าวไทย 14 เกาะ คือ เกาะกุลา เกาะรางบันทัด เกาะมัดหวายใหญ่ เกาะรังกาจิว เกาะกระเต็น เกาะพะลวย เกาะเต่า เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก เกาะหวาย เกาะระยั้ง รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านจาก Carbon Neutral Tourism – มุ่งสู่ Net Zero Tourism
สำหรับผู้ร่วมเวทีเสวนาท่านอื่น ได้แก่ นายอมฤต ศิริพรจุฑากุล ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมจังหวัดกระบี่ และที่ปรึกษามูลนิธิกระบี่ยั่งยืน ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย นางรวีวรรณ แสงจันทร์ รองผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานกระบี่ โดยมี นายชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ผู้อํานวยการสถาบันการเรียนรู้เพื่อพัฒนาประชาสังคม เป็นผู้ดำเนินการเสวนาฯ กลุ่มการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายใต้สำนักประสานงานการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ดำเนินการเสวนา “การใช้ภูมิปัญญา นวัตกรรม เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเกาะคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์” ภายใต้หัวข้อ “งานวิจัยใช้ได้จริง: Carbon Neutral Tourism – ก้าวใหม่สู่ Net Zero Tourism”
โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน ผู้อำนวยการแผนงานการท่องเที่ยวบนฐานมรดกธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์, นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยรามคำแหง, ผศ.ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ รักษาการคณบดีสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาวลัยลักษณ์, ดร.สุขทัย พงศ์พัฒนศิริ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพลังงานทดแทนและสิ่งแวดล้อม, คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา, คุณปาริชาต สุนทรารักษ์ อุปนายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA), คุณนิพัทธ์พงษ์ ชวนชื่น ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และ ผศ.อนพัทย์ หนองคู ผู้ประสานงานแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนาฯ
โดยมีสาระสำคัญหลายประเด็น เช่น ผลการดำเนินงานวิจัยการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์พื้นที่ฝั่งอ่าวไทย การพัฒนามาตรฐานและหลักสูตรฝึกอบรมการท่องเที่ยวทางทะเลคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทย การยกระดับบริหารจัดการการท่องเที่ยวดำน้ำคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และตราด การชดเชยการปล่อยคาร์บอนด้วยโครงการที่อยู่บนฐาน nature-based solution ผลการดำเนินงานวิจัยการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์พื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากผ้าปูที่นอนใช้แล้วของโรงแรมที่ผลิตโดยชุมชน การประเมินคาร์บอนฟุตปริ้นและการยกระดับการบริหารจัดการของโรงแรม การพัฒนาและยกระดับตลาดการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และมุ่งสู่การท่องเที่ยวปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Tourism)