ศุลกากรยึดเฮโรอีน สัตว์มีชีวิตและซากสัตว์ ลักลอบส่งออก – นำเข้าประเทศ มูลค่ากว่า 49.40 ล้านบาท
วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษีในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายในการปราบปรามยาเสพติด ทั้งการผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่าย ให้หมดไปจากประเทศ เพื่อความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปราม พร้อมบูรณาการด้านการข่าวร่วมกันอย่างต่อเนื่อง นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้ นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้า ส่งออก และนำผ่านยาเสพติดในทุกช่องทาง
โดยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม และหน่วยสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยานนานาชาติ (Airport Interdiction Task Force: AITF) ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ร่วมกันตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้โดยสารของสายการบินที่จะเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติเนตาจี สุภาษจันทระ โพส นครโกลกาตา สาธารณรัฐอินเดีย พบผู้โดยสารชาย สัญชาติอินเดีย มีความเสี่ยงในการลักลอบนำยาเสพติดออกนอกราชอาณาจักร จึงแบ่งชุดตรวจค้นจับกุมเป็น 2 ชุด เพื่อเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณอาคารผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ และจุดตรวจสอบสัมภาระผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พบกระเป๋าเดินทางที่ต้องสงสัย จึงนำไปเอกซเรย์ ปรากฏภาพบริเวณพื้นใต้ผนังกระเป๋าเดินทางมีลักษณะหนาแน่นผิดปกติ จึงประสานเจ้าของกระเป๋าเพื่อเปิดตรวจสอบ จากการตรวจสอบพบแผ่นซุกซ่อนอยู่ที่พื้นใต้กระเป๋าเดินทาง เมื่อตัดแผ่นปิดพื้นกระเป๋าพบถุงพลาสติกใสห่อหุ้มด้วยกระดาษคาร์บอนสีน้ำเงิน 2 ชั้น ภายในบรรจุผงสีขาว ตรวจสอบพบเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 3,850 กรัม มูลค่า 11,550,000 บาท
ต่อมา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 จากข้อมูลการข่าว พบผู้โดยสารหญิงสัญชาติอินเดีย ต้องสงสัยเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประเทศไทย ปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติอินทิรา คานธี นครเดลี สาธารณรัฐอินเดีย เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณเคาน์เตอร์เช็คอิน และเชิญตัวผู้ต้องสงสัยไปตรวจสอบกระเป๋าและสัมภาระทั้งหมดด้วยเครื่องเอกซเรย์ พบว่า กระเป๋าเดินทางมีลักษณะหนาผิดปกติ เมื่อตรวจสอบโดยละเอียด พบสิ่งผิดปกติลักษณะเป็นแผ่นซุกซ่อนภายในข้างผนังกระเป๋า เมื่อเปิดแผ่นออกพบห่อพันด้วยเทปสีขาว ภายในมีกระดาษคาร์บอนสีน้ำเงิน ภายในบรรจุผงสีขาว ตรวจสอบพบเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เฮโรอีน น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้ม 4,250 กรัม มูลค่า 12,750,000 บาท
ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าว เป็นความผิดฐานพยายามนำยาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน) ออกไปนอกราชอาณาจักร และมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด และตามมาตรา 242 มาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566–24 กรกฎาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติด ทั้งสิ้น 115 ราย มูลค่ารวมกว่า 939.49 ล้านบาท
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่อว่า ในด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการนำเข้า – ส่งออก ของผิดกฎหมาย ของต้องห้าม ต้องกำกัด ประเภทอื่นๆ กรมศุลกากรก็ได้ให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสัตว์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) โดยเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจของผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้บูรณาการร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) จับกุมผู้โดยสารชายสัญชาติญี่ปุ่น เดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประเทศไทย ปลายทางกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น พยายามลักลอบนำสัตว์มีชีวิตออกไปนอกราชอาณาจักร เมื่อทำการตรวจสอบพบว่าเป็นสัตว์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ได้แก่ แมงป่องช้าง แมงป่องแส้ บึ้ง แมงมุม แมงมุมแส้ ด้วง มด ตะขาบ และกบ มูลค่าประมาณ 100,000 บาท โดยสัตว์ทั้งหมดบรรจุอยู่ในกล่องลังขนาดใหญ่สีน้ำตาล จำนวน 5 ใบ
การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 และ 252 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และพยายามส่งออกสัตว์ป่าควบคุมออกไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 23 วรรคแรก และ มาตรา 112 ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ประกอบตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558
นอกจากนี้ กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังได้ตรวจยึดกระเพาะปลาแช่เย็นจนแข็ง ของบริษัทแห่งหนึ่งที่มีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ซุกซ่อนอยู่ จำนวน 9 กล่อง น้ำหนักรวม 246.52 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 25 ล้านบาท ซึ่งเจ้าหน้าที่มีความสงสัยว่ากระเพาะปลาดังกล่าว อาจมาจากปลาที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES จึงได้ส่งตัวอย่างให้กรมประมงตรวจพิสูจน์และได้รับผลการตรวจ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ระบุว่าเป็นกระเพาะลมของปลาจวดชนิด แมคโดนัล (Tatoaba macdonali) เป็นปลาอยู่ในบัญชีกลุ่มที่ 1 สัตว์ป่าที่ได้รับการคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES โดยกรมประมงขอให้กรมศุลกากรส่งมอบของกลาง เพื่อนำไปจัดการควบคุมเป็นการเฉพาะ และรายงานผลการดำเนินคดีและการจัดการของกลางให้สำนักงานเลขาธิการไซเตสทราบต่อไป
กระเพาะปลาของกลางดังกล่าวเป็นของที่ต้องได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 92 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และ มาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566–30 มิถุนายน 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีการควบคุมตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ทั้งสิ้น 27 ราย มูลค่ารวมกว่า 62.60 ล้านบาท
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน