หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เขตตรวจราชการที่ 15 และคณะฯ ลงพื้นที่ติดตามสอดส่องโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ในพื้นอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
วันที่ 20 สิงหาคม 2567 เวลา 11.30 น. นายพีระ ทองโพธิ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบเขตตรวจราชการที่ 15 พร้อมคณะฯ ร่วมประชุมและรับฟังผลการดำเนินโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามปณิธานของศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมี นายบุญส่ง ไชยมณี หัวหน้าสำนักงานจังหวัดลำพูน นายประกอบ ยอดยา นายอำเภอแม่ทา หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดและอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
จากนั้น คณะฯ เดินทางไปยังวัดทาสบเส้า หมู่ที่ 1 ต.ทาสบเส้า อ.แม่ทา จังหวัดลำพูน ตรวจติดตามการขับเคลื่อนโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เยี่ยมชมนวัตกรรมปลอกคอสีจำแนกความดุร้ายของสัตว์เลี้ยง และเครื่องหมายคิวอาร์โค้ด ระบุการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง
นายสมบัติ ศุภประภากร ปศุสัตว์จังหวัดลำพูน กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในจังหวัดลำพูน ไม่พบการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในคน ตั้งแต่ปี 2543 มีการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์จนมาถึงปัจจุบัน ในส่วนของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า จังหวัดลำพูนมีทั้งหมด 57 อปท. มีการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครบทุก อปท. รวมทั้งสิ้น 79,493 โดส และได้ดำเนินการฉีดครบทุกแห่งรวมทั้งสิ้น 78,742 โดส และในปีงบประมาณ 2566 จังหวัดลำพูนได้มีการดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างพื้นที่ปลอดโรคและได้ผ่านการรับรอง ประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ระดับอำเภอ จำนวน 1 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ทา และได้รับรางวัล Thailand Rabies Awards 2023 โดยเทศบาลตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสุนัขและแมวในพื้นที่ พบว่าสุนัขแลัแมวไม่สามารถระบุเจ้าของได้ ประชาชนในพื้นที่ถูกสุนัขและแมวกัด โดยไม่ทราบเจ้าของและไม่ทราบถึงการฉีดวัคซีนของสุนัขและแมว ประชาชนบางรายนำสุนัขและแมวไปปล่อยทิ้งที่วัดและที่รกร้าง
เทศบาลตำบลทาสบนเส้า จึงได้หาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จึงมีการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลจำนวนสุนัขและแมวในพื้นที่ มีการจัดทำแผนการดำเนินงานที่ออกให้บริการประขาชนในพื้นที่ มีการอบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครปศุสัตว์เจ้าหน้าที่ให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ การป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในชุมชน ดำเนินการจัดซื้อวัคซีนและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำเนินงาน รวมถึงจัดทำคิวอาร์โค้ด ระบุความเป็นเจ้าของ การฉีดวัคซีน ถิ่นที่อยู่ รวมถึงการทำหมัน ด้วยนวัตกรรมปลอกคอระบุสีความดุร้ายของสุนัขและแมว เช่น ปลอกคอสีเขียว จัดอยู่ในหมวดเป็นมิตร สามารถจับต้องได้ มีจำนวน 870 ตัว ปลอกคอสีน้ำเงินจัดอยู่ในหมวด ระแวง สามารถจับได้เฉพาะบางคน มีจำนวน 45 ตัว และปลอกคอสีแดง จัดอยู่ในหมวดดุร้าย กัดคน ไม่เป็นมิตร มีจำนวน 86 ตัว
นที มีเดช รายงาน