สกร. เข้ม! ปั้นครูต้นแบบเพศวิถีศึกษา ตอบโจทย์การพัฒนาการเรียนรู้
เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) มอบหมายให้นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานเปิดการอบรมเสริมสร้างศักยภาพผู้จัดการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต ด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ภายใต้โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานกิจการนักศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยมี นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย ชี้แจงสภาพการจัดการศึกษาและแนวทางการพัฒนาผู้จัดการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต มีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในการจัดการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเป็นวิทยากรแกนนำเพื่อไปขยายผลให้แก่ครูหรือบุคลากรของหน่วยงาน/สถานศึกษา ได้อย่างมีคุณภาพ และนางสาวหทัยรัตน์ สุดา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเพศวิถีศึกษาและการออกแบบการเรียนรู้ Active Learning เป็นวิทยากร พร้อมทั้งครูและบุคลากรทางการศึกษาจากกลุ่มสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร ร่วมต้อนรับและเข้ารับการอบรม ระหว่างวันที่ 26 – 28 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมไมด้า งามวงศ์วาน จังหวัดนนทบุรี
นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวว่า “เพศวิถีศึกษาเป็นหัวข้อที่มีความสำคัญหัวข้อหนึ่งในการพัฒนาทักษะชีวิตของผู้เรียน และยังมีความเกี่ยวข้องกับการแนะแนวและให้คำปรึกษา (Coaching) จึงมีความสำคัญที่ครูผู้สอนจะต้องมีความรู้และทักษะที่ทันสมัยในการจัดการเรียนการสอนที่ครอบคลุมทั้งในด้านสุขภาพทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ และการป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะชีวิตที่เพียงพอในการดูแลวิถีเพศของตนเองให้ปลอดภัย การอบรมครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความรู้และทักษะให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน”
นางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “การจัดการเรียนรู้เรื่องเพศวิถีศึกษานั้น สกร.หรือ สำนักงาน กศน. เดิมได้เริ่มขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และได้มีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ตามพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 นับว่าเป็นการแก้ปัญหาที่มีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เรียนและประชาชน โดยมีเหตุที่เกิดจากปัจจัยในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ การติดเชื้อ HIV การตั้งครรภ์ไม่พร้อม คุณแม่วัยใส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ฯลฯ ซึ่งพบว่าปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ยังเพิ่มปัญหาสังคม การศึกษาและเศรษฐกิจของประเทศด้วย การเข้าใจและจัดการด้านเพศวิถีอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสุขภาพของผู้เรียน ซึ่งมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับทักษะชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเพศวิถีศึกษา นับว่าเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาทักษะชีวิตให้กับผู้เรียน ครูจึงควรเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ความหลากหลายทางเพศรวมทั้งครอบคลุมเรื่องการส่งเสริมสุขภาพจิต และการสร้างความเข้าใจที่ดีเกี่ยวกับความเคารพในความแตกต่างด้วย ดังนั้นในการจัดอบรมในครั้งนี้ ผู้เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้เทคนิคและกลยุทธ์ต่างๆ ในการจัดการเรียนการสอน จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านเพศวิถีศึกษา เช่น การออกแบบกิจกรรมที่กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน การประยุกต์ใช้สื่อการเรียนการสอนตลอดจนการแชร์ประสบการณ์และวิธีการปฏิบัติจากวิทยากรที่มีประสบการณ์ด้าน Active Learning ซึ่งเรามีความมุ่งมั่นในการพัฒนาความรู้ ความสามารถของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้เป็นต้นแบบ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมและสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะการจัดกิจกรรมที่ได้รับไปปรับใช้ในการจัดการเรียนรู้สู่ผู้เรียนหรือประชาชนที่สอดคล้องกับการพัฒนาทักษะชีวิตและขยายผลการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”
สุรเชษฐ สิลานนท์ รายงาน