สวทช. นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ‘บริหารจัดการอาหารส่วนเกิน’ สร้างมาตรฐานการส่งต่ออาหาร หนุน Thailand’s Food Bank
วันที่ 11 กันยายน 2567 ณ อาคารกลุ่มนวัตกรรม 2 (INC 2) อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี: กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดกิจกรรมนักวิจัยพบสื่อมวลชน NSTDA Meets the Press เรื่อง สวทช. นำ วทน. ช่วยบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) เนื่องจากประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่มีการรายงานตัวเลขของประชากรของประเทศที่มีรายได้น้อยและมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารประมาณ 3.8 ล้านคน
ดร.ปัทมาพร ประชุมรัตน์ นักวิจัยนโยบาย สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการ การจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย กล่าวว่า สวทช. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG สาขาอาหาร ได้ร่วมกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ดำเนินการศึกษาและวิจัยเชิงนโยบายเพื่อสร้างต้นแบบการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน (Food surplus) ของประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดย สวทช. ได้นำองค์ความรู้ของทีมวิจัยและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาส่งเสริมให้ประเทศไทยสามารถจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank) เพื่อสร้างแบบจำลองการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้สังคมไทย ผ่านการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร และการส่งต่ออาหารส่วนเกิน เพื่อช่วยลดการเกิดขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ
ทั้งนี้ สวทช. ได้นำองค์ความรู้ของทีมวิจัยต่าง ๆ มาร่วมกันดำเนินงานบนฐานความเชี่ยวชาญภายใต้สาขาของเทคโนโลยีที่หลากหลาย ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีดิจิทัลและการคำนวณขั้นสูง และ เทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยทีมวิจัยเริ่มต้นจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการดำเนินงาน ที่มุ่ง เน้นการใช้องค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีอาหารและอาหารปลอดภัย เนื่องจากในกระบวนการส่งต่ออาหารส่วนเกิน ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของอาหารเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ต้องคำนึงถึง สวทช. โดย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มีทีมวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพทางอาหาร (IFBT) ที่มีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ด้านอาหารปลอดภัย (Food safety) สามารถประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญในการทดสอบความปลอดภัยของอาหารส่วนเกินที่มีข้อกังวลหรือคาดว่าจะมีความเสี่ยงด้วยกระบวนการวิเคราะห์ทดสอบในห้องปฏิบัติการ
ดร.นิภา โชคสัจจะวาที นักวิจัยอาวุโสและคณะผู้วิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) กล่าวเสริมว่า การนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยเสริมการจัดการ มีความสำคัญอย่างยิ่ง จะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจในคุณภาพมาตรฐานของอาหาร โดยทีมวิจัยได้จัดทำแนวปฏิบัติอาหารปลอดภัยสำหรับอาหารบริจาค (Food Safety Guideline) ที่มีแนวทางปฏิบัติตั้งแต่ขั้นตอนการรับอาหาร การเก็บรักษาอาหาร การขนส่ง การแจกจ่ายอาหาร หลักปฏิบัติสำหรับผู้สัมผัสอาหาร เช่น การแช่แข็งอาหารส่วนเกินและติดฉลากใหม่ การระบุวันที่และระยะเวลาที่แนะนำ ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายและการควบคุมอันตราย เช่น สารเคมี สารก่อภูมิแพ้ หลักปฏิบัติในการเตรียมอาหาร เช่น การทำละลายอาหารแช่แข็ง การทำให้สุก ทำให้เย็น อุ่นร้อน การรักษาความปลอดภัยอาหารระหว่างขนส่ง เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เพื่อให้อาหารที่แจกจ่ายยังคงมีความปลอดภัยและเหมาะสมต่อการบริโภค ช่วยให้เกิดความมั่นใจทั้งต่อผู้บริจาคและผู้รับบริจาครวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการบริจาคอาหารในวงกว้างมากยิ่งขึ้น
• ดึงดิจิทัลเทคโนโลยี จับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ
ดร.นันทพร รติสุนทร ทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่า ทีมวิจัยซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ประยุกต์และปัญญาประดิษฐ์ (Applied Mathematics and Artificial Intelligence) และประสบการณ์ในการออกแบบและพัฒนาวิธีการและระบบ Intelligent Digital Platform เช่น ระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ และระบบเชื่อมโยงผลผลิตเพื่ออาหารกลางวัน นำมาสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มแนะนำการจับคู่ความต้องการและอาหารบริจาคแบบอัตโนมัติ ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยเป็นเครื่องมือดิจิทัลเพื่อบริหารจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพอัตโนมัติ สามารถนำไปเชื่อมต่อกับระบบ Cloud Food Bank มีมูลนิธิ SOS และองค์กรพันธมิตรเครือข่ายเป็นผู้ใช้งาน โดยแพลตฟอร์มสามารถนำเสนอและแนะนำตัวเลือกการจัดสรรอาหารบริจาคพร้อมตารางเส้นทางการรับส่งอาหาร เพื่อลดความเสียหายของอาหาร และสามารถกระจายอาหารบริจาคได้ตามเงื่อนไขและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ผู้ใช้งานกำหนด เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจ ลดภาระงาน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้กับผู้ใช้งานในการจัดการอาหารบริจาคได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วบนฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อรองรับการขยายฐานผู้บริจาคซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการลดปริมาณอาหารส่วนเกิน และลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดอาหารส่วนเกิน อีกทั้งช่วยลดภาระงานและสนับสนุนการตัดสินใจของผู้ดูแลระบบได้ดีขึ้น ทั้งนี้ แพลตฟอร์มดิจิทัลดังกล่าว ล่าสุดทางเนคเทคได้ขยายการใช้งานโดยอยู่ระหว่างหารือความร่วมมือกับ BKK Food Bank ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการด้วย
• สร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานข้อมูลคาร์บอนฟุตพรินต์
ด้าน ดร.นงนุช พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (TIIS) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) กล่าวว่า เอ็มเทค โดยทีมวิจัย TIIS ได้พัฒนาแนวทางและการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของอาหารส่วนเกิน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 12.3 การลดขยะอาหารของประเทศ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้คือ ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหาร (Food Loss and Waste) ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) ตามหมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) ด้านการสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างสังคมคาร์บอนต่ำรวมทั้งแผนขับเคลื่อนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน พ.ศ.2560–2579 กำหนดเป้าหมาย SCP 3 ส่งเสริมให้ประเทศไทยมีระบบอาหารที่ยั่งยืน ในปี 2570 ต้องลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารลงร้อยละ 5 ต่อปีจากปีฐาน และแผนระยะยาว คือ การเพิ่มอัตราการหมุนเวียนวัสดุสำหรับผลิตภัณฑ์เกษตร-อาหาร ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ในปี 2570 ทีมวิจัยได้นำแนวคิดด้านการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment : LCA) สำหรับประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Environmentally implications: Climate change) หรือภาวะโลกร้อน จากอาหารส่วนเกินเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มบริการอาหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งทำให้เกิดผลดีต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันจะนําไปสู่การลดขยะอาหารในอนาคต อีกด้วย”
“นอกจากนี้ TIIS รับผิดชอบจัดทำฐานข้อมูลวัฏจักรชีวิตของประเทศไทย (Thai National LCI database) และค่าสัมประสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHGs Emission Factor: EF) ดังนั้น จึงสามารถนำโครงสร้างพื้นฐานและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้กับการจัดการอาหารส่วนเกินได้ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าร้านอาหารแห่งหนึ่งบริจาคอาหารส่วนเกิน 50 กิโลกรัม จะสามารถคำนวณได้ว่าการบริจาคครั้งนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้กี่ต้น หรือลดการใช้พลังงานเท่ากับการปิดไฟกี่ชั่วโมง ข้อมูลเหล่านี้ไม่เพียงสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริจาคเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม แต่ยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรด้วย ในอนาคต เรายังเล็งเห็นโอกาสที่องค์กรจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการขอรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งอาจนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตในตลาดได้ สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การลดขยะอาหารอย่างยั่งยืนในระยะยาว ” ดร.นงนุชกล่าวทิ้งท้าย
ดร.ปัทมาพร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ สวทช. ได้ขับเคลื่อนโครงการการศึกษาแนวทางบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน หรือ Food surplus โดยที่ผ่านมาได้ทำการศึกษาและทบทวนกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง และมีการประชุมรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง พบว่าข้อมูลจุดสำคัญของอาหารส่วนเกิน คือ 1 ใน 3 ของผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตขึ้นมา จะถูกทิ้งซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรที่ใช้ในการผลิต รวมถึงยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศด้วย โดยที่ผ่านมาโครงการฯ ได้มีความพยายามพัฒนาแนวทางการบริจาคอาหารส่วนเกินออกมาให้เหมือนกับประเทศอื่นๆ รวมถึงส่งเสริมให้เกิดมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการลดหย่อนภาษี มาตรการด้านคาร์บอน เพื่อส่งเสริมการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับ Food Bank เหมือนเช่นในหลายๆ ประเทศ ซึ่งทั้ง 2 มาตรการ ถือเป็นแนวทางเพื่อให้การจัดตั้ง Food Bank เกิดขึ้นได้จริงและไปต่อได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น
“เรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์และคาร์บอนเครดิต ซึ่งการมีคาร์บอนเครดิตกับการบริจาคอาหารส่วนเกินนั้น โครงการฯ อยากเห็นภาพของ Food Bank ในประเทศไทยที่ขายคาร์บอนเครดิต จากการลดปริมาณขยะอาหารดังที่เกิดขึ้นจริงแล้วในประเทศเม็กซิโก ซี่งจะช่วยพลิกโฉมการดำเนินงาน Food Bank จากเดิมในรูปแบบการกุศล เป็นการขายคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งในส่วนนี้ยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ (audit) ที่จะเกิดขึ้นด้วย” ดร.ปัทมาพรฯ กล่าวทิ้งท้าย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน