ข่าวใหม่อัพเดท » ผวจ.นครศรีธรรมราช สั่งทุกฝ่ายเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ขณะที่รองผู้ว่าฯ ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยใน 3 อำเภอ

ผวจ.นครศรีธรรมราช สั่งทุกฝ่ายเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ขณะที่รองผู้ว่าฯ ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยใน 3 อำเภอ

10 ตุลาคม 2024
0

ผวจ.นครศรีธรรมราช สั่งทุกฝ่ายเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ขณะที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยใน 3อำเภอ

นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช สั่งการทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ หลังศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกได้ออกประกาศ ฉบับที่ 1 (28/2567) เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระหว่างวันที่ 10-14 ตุลาคม 2567 ขณะที่ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้(9 ต.ค.67) นายสมชาย ลีหล้าน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยนายสายัน กิจมะโน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช นายอำเภอ และผู้แทนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยใน 3 อำเภอ ประกอบด้วย บ้านแสงวิมาน ตำบลคลองน้อย และบ้านบางศาลา ตำบลบางศาลา อำเภอปากพนัง ,บ้านเนินธัมมัง ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ และชุมชนบ้านบางนกวัก ตำบลสวนหลวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เพื่อวิเคราะห์ ติดตาม และประเมินสถานการณ์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกได้ออกประกาศ ฉบับที่ 1 (28/2567) เรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ระหว่างวันที่ 10-14 ตุลาคม 2567 ซึ่งจะมีร่องมรสุมพาดผ่านอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน โดยลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ โดยในช่วงวันที่ 10-11 ตุลาคม 2567 มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ช่วงวันที่ 12-13 ตุลาคม 2567 มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และวันที่ 14 ตุลาคม 2567 มีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ตอนล่างจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

จึงขอให้ประชาชนระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้พื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำท่วมฉับพลันนำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มในพื้นที่ลาดเชิงเขา ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและเรือเล็กเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง รวมทั้งขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออกอย่างใกล้ชิด


ธีรศักดิ์ อักษรกูล รายงาน

error: Content is protected !!