ที่วัดหัวกลับ ตำบลบ่อสุพรรณ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี นายธนโชค ลิ้มธนาคม อดีตกำนันแหนบทองคำ ตำบลบ่อสุพรรณ ร่วมกับผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกอบต ผู้นำชุมชน คณะครูและกรรมการวัดหัวกลับ และชาวชุมชนร่วมกันจัดงานทอดกฐินสามัคคีเพื่อสมทบทุนสร้างมณทปหลวงพ่อโน้ม ยโสธ อดีตเจ้าอาวาส รูปแรกของวัดหัวกลับ ที่ชาวบ้านหัวกลับให้ความเคารพศรัทธา
ประวัติ หลวงพ่อโน้ม ยโสธโร เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2473 ที่อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี เป็นบุตรนายแม้น ม่วงแก้ว และนางตุ๋ย ม่วงแก้ว ท่านเป็นบุตร ตนที่ 5 จากพี่น้อง 7 คน ครอบครัวท่านประกอบอาชีพการเกษตรมาโดยตลอด เมื่อสมัยท่านยังเยาว์วัย ครอบครัวท่านได้ย้ายจากถิ่นเดิมที่ อ.ท่ามะกา มาจับจองที่ดินทำกินที่บ้านสำนักมะเฟือง ซึ่งเมื่อก่อนอยู่ใน ต.ทุ่งคอก ยังไม่ได้แยกมาอยู่ในพื้นที่ ต.บ่อสุพรรณ ดังเช่นปัจจุบัน
เมื่อถึงวัยหนุ่ม อายุได้ยี่สิบปีเศษ ท่านจึงได้ตัดสินใจเข้าหาทางธรรมตามพุทธประเพณี โดยเข้าอุปสมบท ในวันแรม12 ค่ำ เดือน 5 ปีเถาะตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม 2494 ณ พัทธสีมาวัดกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยมีพระครูสุกิจธรรมสาร (หลวงพ่อหว่าง) เจ้าอาวาสวัดกำแพงแสน เป็นพระอุปัชฌาจารย์ พระอาจารย์สุนทร เป็นพระกรรมวาจารย์ อาจารย์โน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาเป็น “ยโสธโร”หลังจากได้อุปสมบทเป็น “พระภิกษุโน้ม ยโสธโร” เรียบร้อยแล้ว จึงได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดทับกระดาน ซึ่งขณะนั้น หลวงพ่อบวช ตุลายโก หรือท่านพระครูสุธรรมรัต เป็นเจ้าอาวาสอยู่ พระภิกษุโน้ม ยโสธโร เป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามกฏของสงฆ์อย่างเคร่งครัด อีกทั้งยังเป็นพระผู้มีความขยันอดทน ในการปฏิบัติกิจของสงฆ์ และให้ความร่วมมือในกิจการงานของวัด อย่างเต็มกำลังความสามารถจนนับได้ว่าเป็นหัวแรงสำคัญในการพัฒนา และสร้างความเจริญให้แก่วัดทับกระดาน อันควรแก่ยุคสมัย
และด้วยเหตุผลนี้ จึงทำให้พระภิกษุโน้ม เป็นที่รักและศรัทธาแก่พุทธสานิกชน ผู้พบเห็นทั่วไป อีกทั้งยังเป็นที่ไว้วางใจจาก หลวงพ่อบวช ตุลายโก ให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดทับกระดาน ในปี 2497ด้านพระปริยัติธรรม ท่านได้ศึกษาที่ สำนักเรียนวัดทับกระดาน สามารถสอบได้นักธรรมตรี นักธรรมโท และนักธรรมเอก ในปี 2504 ในปี 2509 ท่านได้เข้าร่วมกับหน่วยพัฒนาทางจิต เพื่อศึกษาอบรมความรู้ด้านพระพุทธศาสนา เป็นพระธรรมทูต รุ่นที่ 2 มีหน้าที่เผยแผ่ความรู้ทางพระพุทธศาสนา แก่ประชาชน ต่อมาปี 2511 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็น พระกรรมวาจาจารย์ และในปีเดียวกันทางวัดหัวกลับ ขาดเจ้าอาวาสครองวัด แต่ด้วยความเลื่อมใสศรัทธา ของพุทธศาสนิกชนชาวบ้านหัวกลับ จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือ และเห็นพ้องต้องกันว่า พระภิกษุโน้ม ยโสธโร เหมาะสมที่จะเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวกลับ จึงพากันเดินทางไปที่วัดทุ่งคอก เข้ากราบนมัสการเจ้าคณะตำบล คือหลวงพ่อเปลื้อง (พระครูสุวรรณวิริยคุณ)เพื่อขอพระภิกษุโน้ม ยโสธโร มาเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวกลับ
พระภิกษุโน้ม ยโสธโร เดินทางมาที่วัดหัวกลับ เมื่อวันจันทร์ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 1 กรกฎาคม 2511 และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดหัวกลับ ซึ่งในสมัยนั้นวัดหัวกลับเป็นเพียงสำนักสงฆ์ ไม่มีอุโบสถ มีเพียงศาลาทำบุญ 1 หลัง และกุฏิสงฆ์อีกไม่กี่หลัง มีพระภิกษุ-สามเณรจำพรรษาเพียงไม่กี่รูป ชาวบ้านหัวกลับเองมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนมากประกอบอาชีพทำไร่ยาสูบ มีฐานะความเป็นอยู่ตามอัตภาพ แต่ด้วยความที่มีอุปนิสัยใฝ่หาธรรม ประกอบกับความมุ่งหวังที่อยากจะเห็นความเจริญก้าวหน้าของวัด เมื่อมีงานวัดงานบุญครั้งใด ก็จะมีชาวบ้านมาร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันทุกครั้งไป หลวงพ่อโน้ม ยโสธโร เข้าจำพรรษาอยู่ที่วัดหัวกลับในตำแหน่งรักษาการแทนเจ้าอาวาสได้เพียงพรรษาเดียว ก็ได้มีหนังสือตราตั้ง จากเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี ให้ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหัวกลับ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2511 เป็นต้นมา
หลวงพ่อโน้ม ยโสธโร ได้ร่วมกับชาวบ้านหัวกลับ พัฒนาวัด โดยเริ่มจากการซ่อมแซมปรับปรุงกุฏิสงฆ์ที่มีอยู่เดิมให้ดีขึ้น จากนั้นในปี 2514 ได้เริ่มก่อสร้างพระอุโบสถแล้วเสร็จในปี 2521 ใช้งบประมาณกว่า 1,900,000 บาท ในระหว่างนั้น ยังได้มีการสร้างกุฏิสงฆ์เพิ่มเติมอีก 2 หลังในปี 2518-2519 -2520 ทำการสร้างศาลาการเปรียญขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณ 258,000 บาท และทำการก่อสร้างอื่น ๆ อีก อันได้แก่ศาลารับรองแขก ซุ้มประตูวัด เมรุ ศาลาธรรมสังเวชนีย์ สร้างแล้วเสร็จ ในปี 2522-2524-2527-2528 ตามลำดับ จนมาถึงปี 2534 ได้เริ่มก่อสร้างกุฏิหอสวดมนต์ ซึ่งเป็นศาลา 2 ชั้น ขนาดใหญ่ และสวยงามใช้งบประมาณ 3,500,000 บาท และสิ่งปลูกสร้างอีกหลายอย่าง
หลวงพ่อโน้ม ยโสธโร ไม่ได้เพียงแต่สร้างและพัฒนาวัดหัวกลับ และพุทธศาสนาเท่านั้น ท่านยังเป็นพระนักพัฒนาที่ริเริ่ม และให้การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากการให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนการสร้าง ถนนหนทาง การขุดบ่อบาดาล การพัฒนาไฟฟ้า การสร้างอาคารเรียน อีกทั้งรวมไปถึงการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนตลอดช่วงเวลาทั้ง 49 พรรษา ท่านพระครูสุวรรณสิริธร หรือหลวงพ่อโน้ม ยโสธโร ท่านไม่เคยแม้แต่จะหยุดคิดที่จะพัฒนามีแต่ความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างความเจริญ สร้างสาธารณะประโยชน์ ให้กับท้องถิ่นมาโดยตลอด
หลวงพ่อโน้ม ยโสธโร เป็นพระผู้ปฏิบัติงดงาม เป็นประวัติที่ทรงผลตลอดต้นชนปลาย เป็นที่เคารพเลื่อมใสของคนทุกชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย กิตติศัพย์เกีรติคุณฟุ้งขจรเป็นที่ประจักษ์แก่สาธุชนทั่วไป ชีวิตที่ท่านดำรงไว้ซึ่งความดี อันหายากนักที่จะทำได้ และแล้วสิ่งที่ลูกศิษย์ไม่อยากให้เกิดก็ดำเนินมาถึง โดยนที่ 16 ตุลาคม 2542 เป็นวันที่สังขารของท่านเริ่มแสดงอาการไม่สนิทที่จะครองขันธ์ต่อไป วันนั้นเป็นวันที่ท่านเริ่มอาพาธท่านได้เตือนศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ให้รีบเร่งทางความเพียรขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ติดขัดอะไรจะได้ช่วยแก้ไขให้สำเร็จเสร็จสิ้นไป ท่านว่าท่านจะอยู่กับศิษย์ อีกไม่นาน ก็จะจากไปตามกฏของ”อนิจจัง” ที่คอยเดินตามสังขารตลอดเวลาไม่มีลดละจนกระทั่งเมื่อเวลา 20 นาฬิกา 19 นาที จึงได้ถือเวลานั้นเป็นเวลา “มรณะภาพ” ของท่าน ในวันที่ 20 ตุลาคม 2542 หลวงพ่อได้ละสังขารและสังขารของหลวงพ่อศิษยานุศิษย์และชาวบ้านหัวกลับได้บรรจุสรีระสังขารของท่านซึ่งไม่เน่าเปื่อยไวในโลงแก้ว ให้ศิษย์ได้กราบไหว้มาจนทุกวันนี้ ซึ่งวัดหัวกลับเป็นหนึ่งในสิบของเส้นทางไหว้พระของอำเภอสองพี่น้องอีกด้วย
ภัทรพล พรมพัก สุพรรณบุรี