พก. พร้อมด้วย องค์กรพันธมิตร ร่วมแถลงข่าวผลการติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Press conference on CRPD Monitoring and Implementation in Thailand) ผลการติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ.. “เพื่ออนาคตที่ดีกว่าสำหรับคนพิการในประเทศไทย”
วันที่ 29 ตุลาคม 2567 เวลา 13.00 น. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ร่วมกับศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ศพอ.) หรือ APCD จัดแถลงข่าว ผลการติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (Press conference on CRPD Monitoring and Implementation in Thailand) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองและสิทธิมนุษยชนให้แก่คนพิการทุกกลุ่ม ให้มีโอกาสและเสรีภาพในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ อย่างเท่าเทียม ให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสหารือแนวทางในการปรับปรุงการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการในประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) สรุปภาพรวมถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการในประเทศไทยตาม CRPD ภายใต้โครงการ “การพัฒนาระบบจัดเก็บ รวบรวม วิเคราะห์ และติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ” ซึ่งดำเนินการตั้งแต่เดือนมีนาคม–พฤศจิกายนในปีนี้ และเพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะในการพัฒนาและผลักดันการดำเนินงานตามอนุสัญญา CRPD ในประเทศไทยและระดับสากล ทั้งนี้ การร่วมมือกับ APCD ช่วยให้โครงการพัฒนาระบบเก็บข้อมูลคนพิการนี้มีความครอบคลุมและสามารถตอบสนองต่อการพัฒนานโยบายและแผนงานเพื่อคนพิการในทุกด้าน
ซึ่งวัตถุประสงค์ของการแถลงข่าวในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย
- เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีโอกาสหารือแนวทางในการปรับปรุงการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการในประเทศไทยตามอนุสัญญา CRPD
- เพื่อสรุปภาพรวมถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการในประเทศไทยตามอนุสัญญา CRPD
- เพื่อส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดีและความท้าทายในการดำเนินการตามอนุสัญญา CRPD ในประเทศไทย
- เพื่อส่งเสริมการรับรู้สิทธิของคนพิการและการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการในระดับประเทศและสากล
- เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะในการพัฒนาและผลักดันการดำเนินงานตามอนุสัญญา CRPD ในประเทศไทยและระดับสากล
ในการนี้ ได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและ
ความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกล่าวปาฐกถา หัวข้อ “CRPD เพิ่มโอกาสและสร้างคุณค่าคนพิการไทย” เพื่อเน้นย้ำการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการและการปฏิบัติตตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ พร้อมด้วยการเปิดเวทีเสวนาระหว่างภาคีเครือข่ายจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคมองค์กรคนพิการ และองค์การระหว่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นในการขับเคลื่อนงานคนพิการไทยในการพัฒนากระแสหลัก ตามกรอบอนุสัญญา CRPD และยังมีบูทนิทรรศการจัดแสดงนวัตกรรมการส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งตอกย้ำถึงความพร้อมของไทยในการดำเนินงานด้านคนพิการสู่ระดับสากล”
โดยภายในงานนี้ได้มีการจัดเสวนาขึ้น ในประเด็น “ความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านคนพิการในประเทศไทยและบูรณาอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายในระดับสากล” ซึ่งได้รับเกียรติจาก นางวรรณภา สุขคง รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ,นายเอกกมล แพทยานันท์ อุปนายกคนที่ 1 และประธานฝ่ายต่างประเทศและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย,นายพิรุณ ลายสมิต ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก และ Ms. Min Kyong Kim, Social Affairs Officer,Social Development Division,United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific (ESCAP) เข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้
ที่ผ่านมากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีการดำเนินโครงการ “การพัฒนาระบบจัดเก็บ รวบรวม วิเคราะห์ และติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ” ภายใต้โครงการ “การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อินชอนเพื่อสิทธิของคนพิการในเอเชียและแปซิฟิก (ระยะที่ 2)” ซึ่งดำเนินงานร่วมกับ ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) และได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านคนพิการที่ใช้ในการติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการผ่านการจัดทำเครื่องมือที่รวบรวมและเก็บข้อมูลการดำเนินงานด้านคนพิการของหน่วยงานต่าง ๆ
ทางด้านกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือ พก. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแล กำกับ และติดตามการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการในประเทศไทย มีการพัฒนาด้านคนพิการอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการส่งเสริม คุ้มครอง และประกันให้คนพิการทั้งปวงได้อุปโภคสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานทั้งปวงอย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน และส่งเสริมการเคารพในศักดิ์ศรีที่มีมาแต่กำเนิด การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการทุกรูปแบบ การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ การทำงาน การรักษาพยาบาล การมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป
ในส่วนของศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก (APCD) ได้เข้ามามีบทบาทในด้านการดำเนินงานด้านคนพิการในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก อีกทั้งให้ข้อเสนอแนะปรับปรุงการเก็บข้อมูลการดำเนินงานตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการติดตามการดำเนินการตามกรอบนโยบายระหว่างประเทศ อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ (CRPD),เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์อินชอนเพื่อ “ทำสิทธิให้เป็นจริง” สำหรับคนพิการในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กรอบเหล่านี้เน้นความจำเป็นของข้อมูลที่ถูกต้องและแยกตามประเภท เพื่อช่วยในการกำหนดนโยบาย ติดตามความก้าวหน้า และระบุช่องว่างที่ยังคงอยู่
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการเก็บข้อมูลในปัจจุบันมักไม่เพียงพอ และยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ ทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย และการกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการยังขาดความชัดเจนและยังไม่สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ ดังนั้น โครงการศึกษานี้จึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเครื่องมือการจัดเก็บข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ และนำผลการวิเคราะห์ไปติดตามการดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านคนพิการได้อย่างครอบคลุม และสนับสนุนการพัฒนานโยบายให้มีความครอบคลุมทุกประเด็นด้านคนพิการอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ในฐานะองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานใกล้ชิดกับพันธมิตรทั้งหลายในเอเชียและแปซิฟิก และส่งเสริมการพัฒนาที่ครอบคลุมคนพิการในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ตามเป้าหมายและเจตนารมณ์ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์อินชอน และปฏิญญาจาการ์ตาว่าด้วยทศวรรษคนพิการแห่งเอเชียและแปซิฟิก ได้ให้การสนับสนุนโครงการการศึกษานี้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนพิการในการเก็บและใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อทำให้สิทธิและเสรีภาพของคนพิการกลายเป็นความจริงในที่สุด
สุดท้ายนี้ทางด้าน นายเอกกมล แพทยานันท์ อุปนายกคนที่ 1 และประธานฝ่ายต่างประเทศและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการตาม CRPD คือ การเสริมพลังสร้างความเข็มแข็งให้แก่คนพิการและองค์กรของคนพิการ เพราะนอกจากจะเป็นเจ้าของสิทธิเองแล้ว ยังเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบาย ไปจนถึงการนำกฎหมายและนโยบายไปสู่การปฏิบัติอีกด้วย ซึ่งสิทธิของคนพิการจะเป็นจริงได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตามหลักการการพัฒนาที่ครอบคลุมถึงคนพิการ Disability Inclusive Development หรือ DID โดยขอฝากให้ทุกภาคส่วนนำหลักการ DID ของท่านอาจารย์มณเฑียรไปสานต่อด้วย”
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน