ข่าวใหม่อัพเดท » นายภูมิธรรม ร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 18 และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 11 ระหว่าง 19 – 22 พ.ย.67

นายภูมิธรรม ร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ 18 และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 11 ระหว่าง 19 – 22 พ.ย.67

18 พฤศจิกายน 2024
0

นายภูมิธรรม เวชยชัย รอง นรม./รมว.กห. ร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน L(ADMM)l ครั้งที่ 18 และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 11 ระหว่าง 19 – 22 พ.ย.67 นี้ ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมกำหนดแนวทางและขับเคลื่อนความมั่นคงในภูมิภาค สร้างเสถียรภาพ ภายใต้ความเปลี่ยน แปลงทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างรวดเร็ว พร้อมส่งเสริมความเชื่อมั่นและความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในอาเซียน

วันที่ 18 พ.ย.67 พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษก กห. เปิดเผยการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน ASEAN DEFENCE MINISTER’S MEETING หรือที่เป็นที่รู้จักกันโดยชื่อย่อว่า ADMM เป็นกลไกการหารือที่สำคัญของรัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยการประชุมฯ จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2549 ในปีนี้เป็นครั้งที่ 18 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 ถึง วันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

การประชุม ADMM ถือว่า เป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญยิ่งในภูมิภาค เนื่องจากเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ผู้นำระดับสูงฝ่ายกระทรวงกลาโหมของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ทำความคุ้นเคย สร้างความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเป็นมิตร เพิ่มความไว้วางใจ และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกที่ได้สร้างความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความมั่นคงอีกหลายด้าน อาทิ การพัฒนาขีดความสามารถในการช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดภัยพิบัติ การแพทย์ทหาร ความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้าย และการแพร่ขยายแนวคิดรุนแรง เป็นต้น

​การประชุม ADMM เป็นกลไกหารือด้านการป้องกันประเทศระดับสูงของอาเซียน มีวัตถุ ประสงค์เพื่อสร้างสันติภาพ เสถียรภาพ และความมั่นคงในภูมิภาค สร้างความเชื่อมั่นและความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศ 10 ประเทศในอาเซียนสาระสำคัญของการประชุมฯ เพื่อยกระดับความร่วมมือทางทหารของอาเซียนให้เทียบเท่ากับความร่วมมือด้านการต่างประเทศและด้านเศรษฐกิจ ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วยรัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียน
10 ประเทศ และเลขาธิการอาเซียน (ปัจจุบันราชอาณาจักรกัมพูชาดำรงตำแหน่งอยู่)

สำหรับการประชุม ADMM ครั้งที่ 18 กับการประชุม ADMM-Plus ครั้งที่ 11 ที่ประชุมฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองโดยตระหนักถึงความท้าทายด้านความมั่นคงทั้งในปัจจุบันและอนาคตภายใต้บริบทของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์การแข่งขันของประเทศมหา อำนาจและภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์และผลักดันความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา รวมทั้งมีการปฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอกภูมิภาคอย่างครอบคลุมและสมดุล เพื่อส่งเสริมความเชื่อมั่นและความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนได้ให้การรับรองแถลง การณ์ร่วมของการประชุมฯ ว่าด้วยเรื่องของผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

​นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองความสัมพันธ์อาเซียน-เครือรัฐออสเตรเลีย ครบรอบ 50 ปี และความสัมพันธ์อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลีครบรอบ 35 ปี รวมทั้งเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมสาธารณรัฐประชาชนจีน(อย่างไม่เป็นทางการ) ตลอดจนได้พบหารือทวิภาคีร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประเทศคู่เจรจา ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา มาเลเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐประชาชนจีน และเครือรัฐออสเตรเลีย รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน ในการส่งเสริมความสัมพันธ์และเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ประโยชน์ที่คาดว่าประชาชนจะได้รับ ดังนี้

  1. ทำให้มีการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการใช้ทรัพยากรทางทหาร เพื่อรับมือกับความท้าทายรูปแบบใหม่ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อสวัสดิภาพ และความมั่นคงปลอดภัยของประชาชน อาทิ การบรรเทาภัยพิบัติและการสนับสนุนทางการแพทย์ ความมั่นคงทางไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้ายและแนวคิดรุนแรงสุดโต่ง เป็นต้น
  2. ​​การประชุม ADMM เป็นกลไกสำคัญของการเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่น และความเป็นศูนย์รวมของอาเซียน รักษาความเป็นมิตรและการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่ายอย่างสมดุล หลีกเลี่ยงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง ทำให้อาเซียนเป็นพื้นที่ซึ่งทุกฝ่ายสามารถเข้ามามีปฏิสัมพันธ์อย่างสะดวกใจ เพื่อส่งเสริมให้อาเซียนสามารถเป็นภูมิภาคแห่งสันติภาพ เสถียรภาพ และการสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน อันจะส่งผลดีต่อความมั่นคงปลอดภัย และการกินดีอยู่ดีของประชาชนในภูมิภาค
  3. ​​การประชุม ADMM-Plus เสริมสร้างความสัมพันธ์และความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และระหว่างประเทศคู่เจรจาด้วยกัน ซึ่งภายใต้บริบทการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ในปัจจุบัน โดยเฉพาะระหว่างประเทศมหาอำนาจเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อเสถียรภาพ ความมั่นคง การอยู่ดีกินดีและการสร้างความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคและประชาชนในภูมิภาค

ซึ่งภายหลังการประชุมฯเสร็จสิ้น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้ส่งมอบการเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน (ADMM) ในปี 2568 ให้กับมาเลเซียต่อไป


error: Content is protected !!