นาโนเทค สวทช. ส่งมอบต้นแบบ “เครื่องกรองน้ำดื่มด้วยนาโนเทคโนโลยี” ให้ เทศบาลตำบลบูเก๊ะตา-อบต.โละจูด จ.นราธิวาส บรรเทาปัญหาน้ำดื่ม-น้ำใช้
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำโดย ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) พร้อมด้วย ดร.ณัฏฐพร พิมพะ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยาระดับนาโน การดูดซับและการคำนวณ ส่งมอบต้นแบบ “เครื่องกรองน้ำดื่มด้วยนาโนเทคโนโลยี” พร้อมระบบติดตามคุณภาพน้ำและอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพน้ำ จำนวน 2 เครื่อง แก่สำนักงานเทศบาลตำบลบูเก๊ะตา และองค์การบริหารส่วนตำบลโละจูด จังหวัดนราธิวาส หวังยกระดับ “น้ำอุปโภค-บริโภค” ในท้องถิ่น เพื่อเป็นแหล่งน้ำสะอาดสำหรับช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ประชาชนกรณีเกิดสาธารณภัยหรือภัยพิบัติฉุกเฉิน พร้อมร่วมประชุมหารือสถานการณ์และปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความสำคัญกับการต่อยอดใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งน้ำและสิ่งแวดล้อม นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต และเป็น 1 ใน 3 นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศของรัฐบาลที่ประกอบด้วย การให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ, การยกระดับการบริหารจัดการน้ำ และการสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยเรื่องของน้ำและสิ่งแวดล้อมก็อยู่ใน 4 Strategic Focus (SF) หรือกลไกการผลักดันเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน (improve quality of life) ของนาโนเทค ซึ่งได้แก่ สารสกัดสมุนไพร, ชุดตรวจสุขภาวะ, เกษตรและอาหาร และ น้ำและสิ่งแวดล้อม “ต้นแบบเครื่องกรองน้ำดื่มด้วยนาโนเทคโนโลยี พร้อมระบบติดตามคุณภาพน้ำและอุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพน้ำนี้ เป็นความร่วมมือระหว่าง นาโนเทค, สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ เทศบาลตำบลบูเก๊ะตา และองค์การบริหารส่วนตำบลโละจูด ในการนำองค์ความรู้ในการตรวจวัดและพัฒนาคุณภาพน้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อรองรับปัญหาคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้และเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำหลากที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ซึ่งนาโนเทคเอง พร้อมสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้วย วทน. กับทุกภาคส่วน ผ่านการทำงานร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ,ภาคเอกชน,ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมเพื่อประสานพลัง เปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาส สร้างความเสมอภาค และเพิ่มการเข้าถึงน้ำอุปโภคบริโภคของชุมชนและประชาชน”
ดร.อุรชาฯ เผยต้นแบบเครื่องกรองน้ำดื่มด้วยนาโนเทคโนโลยี โดย ดร.ณัฏฐพร พิมพะ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยการเร่งปฏิกิริยา การดูดซับและการคำนวณระดับนาโน และทีมวิจัยนาโนเทค เป็นการประยุกต์ใช้ถ่านกัมมันต์ชนิดเกล็ดที่ดัดแปรพื้นผิว “FerGACO” ที่นำมาผ่านกรรมวิธีทางเคมี จึงทำให้คาร์บอนที่ได้มีความจำเพาะในการดูดซับสารอินทรีย์และสาร ประกอบของโลหะหนักได้ อันได้แก่ ฟลูออไรด์ สารหนู โครเมียม ทองแดง ปรอท และ แคดเมียม เป็นต้น โดยบรรจุในระบบกรองน้ำดื่มแบบรวมชุดที่สามารถขนย้ายได้ง่าย ที่มาพร้อมระบบติดตามคุณภาพน้ำ อายุการใช้งานไส้กรอง รวมถึงประสิทธิภาพการกรองน้ำ ที่ทีมนาโนเทคพัฒนาขึ้นเอง โดยใช้ไมโครคอนโทรลเลอร์กลุ่ม ESP32 รองรับการทำงานบนแพลตฟอร์ม IoT ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ตรวจวัดค่า EC/TDS ระดับอุตสาหกรรมผ่านโปรโตคอลสื่อสาร MODBUS (RS-485) ซึ่งสามารถพัฒนาให้อ่านค่าเซ็นเซอร์ชนิดอื่นที่ใช้โปรโตคอลสื่อสารเดียวกันเพิ่มเติมได้ในอนาคต
นวัตกรรมปรับปรุงคุณภาพน้ำนี้ จะนำร่องติดตั้งใน 2 พื้นที่ได้แก่ เทศบาลตำบลบูเก๊ะตา และองค์การบริหารส่วนตำบลโละจูด ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส โดยมีนายศุภโยค ลอดิง นายกเทศมนตรีตำบลบูเก๊ะตา และนายซูลกีฟรี เจ๊ะมามะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโละจูด ให้เกียรติรับมอบ ซึ่งเป็นการตอบความต้องการของท้องถิ่นในการเตรียมจัดหาน้ำสะอาดสำหรับอุปโภคบริโภคด้วย “เครื่องกรองน้ำดื่มด้วยนาโนเทคโนโลยี” เพื่อรองรับภาวะฉุกเฉินสำหรับประชาชนในพื้นที่ตำบลโละจูดมากกว่า 1,300 ครัวเรือนที่ต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมทุกปี เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำโก-ลก ในช่วงปลายปีของทุกปี ปริมาณน้ำฝนจะมากเป็นพิเศษ บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมบ้านเรือน บางพื้นที่แม้ไม่ได้ประสบปัญหาน้ำท่วม แต่ก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก และต้องเตรียมงบประมาณจำนวนมากเพื่อจัดเตรียมถุงยังชีพสำหรับประชาชนทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง รวมถึงน้ำสะอาดที่จำเป็นอย่างมากต่อการใช้ชีวิต โดยต้นแบบเครื่องกรองน้ำดื่มด้วยนาโนเทคโนโลยีได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ด้วยเป็นนวัตกรรมที่คนท้องถิ่นสามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด ช่วยให้หน่วยงานท้องถิ่นสามารถประหยัดงบประมาณเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้อีกด้วย และสามารถพัฒนาเป็นระบบเคลื่อนที่ (mobile unit) ที่สามารถเป็นจุดน้ำดื่มเคลื่อนที่ในกรณีฉุกเฉินต่อไป นับเป็นความท้าทายในการเพิ่มการใช้ประโยชน์นาโนเทคโนโลยีสำหรับชุมชนและขับเคลื่อนงานวิจัยที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง
ดร.อุรชาฯ ย้ำว่า นวัตกรรมนี้เป็นทางเลือกโซลูชั่นที่ช่วยให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเอง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากแนวคิดของทีมวิจัยนาโนเทคที่ออกแบบตัวระบบให้ดูรักษาง่าย ต้นทุนต่ำ และในอนาคต อาจจะเพิ่มจุดติดตั้งเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มากขึ้น รวมถึงเพิ่มเรื่องชุดตรวจคุณภาพน้ำ ที่จะช่วยยกระดับ “น้ำอุปโภค-บริโภค” ในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน