ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานภาค 3 ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการจิตอาสาพระราชทานระดับจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ หน่วยทหาร จิตอาสาภาคประชาชน ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดประชุมเพื่อเตรียมความพร้อม เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ประจำปี 2568
โดยเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 พันเอก พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายแผนและการข่าว กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย ร่วมประชุมเตรียมการป้องกันและแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 ประจำปี 2568 โดยมี นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการประชุมฯ ณ ห้องประชุมอู่หลง ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ขณะที่ นายอาวีระ ภัคมาตร์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 พร้อมด้วยนางสาวปิยนุช ทรวงคำ ผู้อำนวยการส่วนการจัดการคุณภาพน้ำ อากาศและเสียง และเจ้าหน้าที่ส่วนฯ เข้าร่วมประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5ประจำปี 2568 ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธาน โดยในการประชุม สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 ได้นำเสนอความคืบหน้าและให้ข้อมูลในเรื่องการจัดประชุมมอบนโยบายการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปี 2568 ของนายกรัฐมนตรี
นอกจากนี้ นายณัฐพล ทองไหล นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน เป็นประธาน ร่วมกับท้องถิ่น ท้องที่ ผู้นำชุมชน และประธานกลุ่มอสม. เข้าร่วมประชุมการดำเนินกิจกรรมแผนปฎิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (P.M.2.5) องค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ ห้องประชุมบงกช องค์การบริหารส่วนตำบลเตาปูน อำเภอสอง จังหวัดแพร่
ส่วน นายปกรณ์ สุระคำแหง ปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง รักษาราชการแทนนายอำเภอกัลยาณิวัฒนา เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm 2.5) อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหารือร่วมในมาตราการบริหารจัดการเศษวัชพืชจากการเกษตรและจุดโม่ข้าวโพดในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา ตลอดจนแนวทางการดำเนินการ/การบริหารจัดการกับเศษวัชพืชทางการเกษตร มาตรการในการควบคุม เฝ้าระวังเหตุและการรักษาความปลอดภัยบริเวณจุดโม่ โดยให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ด้าน ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อย่างจริงจัง ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีภารกิจที่สำคัญอย่างมากในการขับเคลื่่อนนโยบายนี้โดยภาคการเกษตร เพื่อให้พี่น้องเกษตรกร สถาบันเกษตรกร มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ดี มีสุข มีอากาศที่สะอาดหายใจ นอกจากนี้ยังต้องทำการส่งเสริมการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทดแทนการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการจัดการทรัพยากรทางการเกษตร เพื่อรองรับนโยบาย/มาตรการการค้าด้านสิ่งแวดล้อมโลก เช่น EUDR, CBAM และ Carbon Credit รวมถึงการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรในการลดการเผาในพื้นที่เกษตร เช่น ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร โดยบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการต่างๆ ที่ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการ เช่น การเตรียมความพร้อม การประชาสัมพันธ์เชิงรุกนำไปปฏิบัติในพื้นที่ ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ใช้ข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) จาก GISTDA ในการติดตามตรวจสอบสถานการณ์การเผาในพื้นที่เกษตร ของประเทศไทยจากดาวเทียม TERRA และ AQUA ระบบ MODIS ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2567 พบจุดความร้อน (Hotspot) พื้นที่เกษตรในประเทศไทย จำนวน 3,255 จุด จากเดิมปี 2566 ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวน 3,647 จุด พบว่าลดลง จำนวน 392 จุด คิดเป็นร้อยละ 10.75 สำหรับผลการดำเนินงานบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ปี 2567 รายพืช 5 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และไม้ผล ไม้ยืนต้น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2567 มีปริมาณเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทั้งหมดประมาณ 48.6 ล้านตัน นำไปใช้แล้วประมาณ 33.54 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 69 เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3.2 พันล้านบาท
นที มีเดช รายงาน