ศุลกากร รุกหนักปราบปรามสินค้าผิดกฎหมาย คุมเข้มตรวจสินค้านำเข้า มูลค่ากว่า 29 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าราคาต่ำ สินค้าไม่มีคุณภาพและสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาจำหน่ายในประเทศ รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่ผิดกฎหมาย เพี่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้กรมศุลกากร เข้มงวดกวด ขันในเรื่องดังกล่าว
นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเฝ้าระวังและเร่งปราบปรามการนำเข้าสินค้าตามนโยบายของรัฐบาล โดยที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้มีการขอหมายศาลเข้าตรวจค้นจับกุมสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากโกดังที่เก็บสินค้าเพื่อรอการจำหน่ายได้เป็นจำนวนมาก ทั้งยังมีการเพิ่มอัตราสุ่มเปิดตรวจตู้คอนเทนเนอร์สินค้า เพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่อาจไม่ได้มาตรฐานผ่านออกจากอารักขาของกรมศุลกากรก่อนได้รับการอนุญาตจาก สมอ. กระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมควบคุมโรค เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ถูกต้อง
ทางด้านนายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมศุลกากรสามารถตรวจยึดสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นของไม่ตรงตามสำแดง ของต้องห้าม ของต้องกำกัด สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีคดีที่น่าสนใจ ดังนี้
กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ทำการตรวจค้น สินค้าที่นำเข้ามาทางบก ณ ด่านศุลกากรมุกดาหาร และด่านศุลกากรนครพนม ผลการตรวจสอบพบสินค้าประเภท กระเป๋าและรองเท้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้า เครื่องสำอางและเมล็ดกาแฟ ที่ไม่มีใบอนุญาตจาก อย. รวมถึง วัตถุลามก บุหรี่ไฟฟ้า นมผง และสินค้าอื่นๆ ซึ่งสินค้าดังกล่าว มีเมืองกำเนิดจากต่างประเทศบรรจุปะปนมากับตู้สินค้า ซึ่งเป็นของที่ไม่ตรงตามสำแดง ของต้องห้าม และของต้องกำกัด มูลค่า 6 ล้านบาท นอกจากนี้ กรมศุลกากร โดยด่านศุลกากรมุกดาหาร ตรวจยึดสินค้าประเภท รองเท้ากีฬา,เสื้อกีฬา ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญว และเต้ารับไฟฟ้า,แผ่นมาร์คหน้า,ครีมบำรุงผิวหน้า,เครื่องวิทยุสื่อสาร,พลาสเตอร์บรรเทาปวด,น้ำมันนวดเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชาย,บุหรี่ต่างประเทศ,ตู้คีบตุ๊กตา และสินค้าอื่นๆ มีเมืองกำเนิดต่างประเทศ มูลค่า 2 ล้านบาท ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นความผิดตามมาตรา 202 มาตรา 208 มาตรา 243 มาตรา 244 และมาตรา 252 ประกอบ มาตรา 166 มาตรา167 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่จึงอายัดสินค้าดังกล่าวเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรท่าอากาศยานดอนเมือง ได้ทำการตรวจสอบชายสัญชาติลาว เดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พบวัตถุคล้ายทองคำ ลักษณะเป็นแท่ง รวมทั้งสิ้น 3 รายการ ซึ่งเป็นของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร มูลค่า 4.85 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 166 มาตรา 167 และมาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560
ต่อมา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 กรมศุลกากร โดยสำนักงานศุลกากรหนองคาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจช่องทางรถโดยสารขาเข้าประเทศ ได้ทำการตรวจค้นรถบัสท่องเที่ยวระหว่างประเทศ นครหลวงเวียงจันทน์ ผู้ขับขี่พร้อมผู้โดยสารรวม 8 ราย ผลการตรวจค้นพบสินค้าประเภทเครื่องยนต์ สินค้าอุปโภคบริโภค บุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับบุหรี่ไฟฟ้า รวมมูลค่า 5.8 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 242 ประกอบมาตรา 252 แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ.2560 จึงได้นำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองหนองคาย เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ที่ให้ปกป้องสังคม โดยเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าส่งออกสินค้าให้ถูกต้องตามกฎหมายศุลกากร และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยระหว่างเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้ทำการจับกุม ยาเสพติด เช่น โคเคน,ยาบ้า,เมฟีโดรน,MDMA และช่อดอกกัญชา รวมมูลค่าประมาณ 6.12 ล้านบาท รวมถึงได้เคร่งครัดในการจับกุมบุหรี่ต่างประเทศ มูลค่า 2.52 ล้านบาท บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มูลค่า 2.06 ล้านบาท นอกจากนี้ สามารถตรวจยึดสินค้าผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นของไม่ตรงตามสำแดง ของต้องห้าม ของต้องกำกัด สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เช่น เครื่องสำอาง,วัตถุลามก,ตู้คีบตุ๊กตา,ทองคำแท่ง,Starlink,นกแก้ว เป็นต้น
สำหรับสถิติการจับกุม ในปีงบประมาณ พ.ศ.2568 (ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2567–30 พฤศจิกายน 2567)
–ยาเสพติดและช่อดอกกัญชา จำนวน 239 คดี มูลค่า 91.2 ล้านบาท
–บุหรี่ต่างประเทศ จำนวน 279 คดี มูลค่า 32.6 ล้านบาท
–บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ จำนวน 86 คดี มูลค่า 6.5 ล้านบาท
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน