ข่าวใหม่อัพเดท » “เสมา 3” ติดตามการดำเนินงาน รร.เอกชนในการประชุม ครม.สัญจร จังหวัดกาญจนบุรี

“เสมา 3” ติดตามการดำเนินงาน รร.เอกชนในการประชุม ครม.สัญจร จังหวัดกาญจนบุรี

13 พฤศจิกายน 2019
0

วันที่ 11 พ.ย.62 เวลา 13.00 น.: ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2562 ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ณ จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมด้วย ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพะโยม ชิณวงศ์ ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และคณะผู้บริหารทุกสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร ครูโรงเรียนเอกชน ร่วมให้การต้อนรับ ณ โรงเรียนดรุณากาญจนบุรี อำเภอเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

ดร.กนกวรรณฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า “สำหรับภารกิจวันนี้ ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนดรุณากาญจนบุรี ทำให้ทราบว่า หลายๆท่านมีบทบาทสำคัญในการจัดการศึกษา และการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี และขอชื่นชมผู้บริหาร และครูโรงเรียนเอกชนที่ช่วยกันพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความพร้อมก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างรอบด้าน ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ตนได้กำหนดนโยบายสำคัญหลายประการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาเอกชน

ซึ่งการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนออนไลน์ในโรงเรียนในระบบและนอกระบบ เป็นนโยบายหนึ่งที่สำคัญที่ต้องขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม จึงได้มอบหมายให้ สช.พัฒนาและขยายผล รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้ครูและผู้เรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยนำเทคโนโลยีมาใช้จัดการเรียนการสอน การส่งเสริมกิจการลูกเสือในโรงเรียนเอกชน โดยสนับสนุนงบประมาณสำหรับการจัดอบรมผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ลูกเสือจิตอาสา และลูกเสือมัคคุเทศก์ ของโรงเรียนเอกชน

โดยดำเนินการร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ และสำหรับปีงบประมาณนี้ ขอฝากให้ สช. นำข้อเสนอแนะในประเด็นเรื่องการแข่งขันทักษะวิชาการ (นักเรียนเกรดอ่อน) ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะของนักเรียนตามความถนัดและความสามารถของผู้เรียนเป็นสำคัญ ตลอดจนโครงการจังหวัดต้นแบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ (ปราจีนบุรีโมเดล) โดยบูรณาการกิจกรรม บุคลากร และ งบประมาณ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างต้นแบบในการส่งเสริมความเสมอภาค และลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับประชากรวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ได้แก่ เด็กตกหล่น และเด็กออกกลางคัน รวมถึงการให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล เพื่อให้ผู้เรียนเลือกเส้นทางการศึกษาต่อ และประกอบอาชีพได้ตรงตามความถนัด ความสนใจ และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน ตลอดจนการนำเสนอ Best Practice ของโรงเรียนเอกชนทุกประเภทต่อสาธารณะ เช่น โรงเรียนพลังงานต้นแบบ (ศรีแสงธรรม) รวมทั้งการศึกษาแนวทางการปรับปรุงอัตราเงินอุดหนุนรายบุคคลนักเรียนโรงเรียนเอกชน เพื่อสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนร่วมกับ สช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา”
รมช.ศธ.กล่าว

จากนั้นได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโรงเรียนเอกชน การจัดการศึกษาเอกชนในโรงเรียนการศึกษาสงเคราะห์ ดูแลเด็กที่มีปัญหา ณ โรงเรียนหมู่บ้านเด็ก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาของโรงเรียนประถมหมู่บ้านเด็ก และศูนย์การเรียนมัธยมหมู่บ้านเด็กเน้นการให้โอกาสเด็กเลือกเรียน เพื่อรอเวลาให้เด็กเกิดฉันทะ และเน้นที่ความสุขของเด็กๆ ที่เกิดจากการเรียนรู้ที่หลากหลาย ซึ่งในระดับประถมการเล่นก็ถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่สนุก และพัฒนาสมอง รวมถึงการดำเนินการจัดกระบวนการเรียนรู้จะผ่านเกมส์และประสบการณ์จริง เช่น คณิตศาสตร์ คำนวณจากพื้นที่ก่อสร้าง คำนวณจากพื้นที่แปลงเกษตร สูตรปุ๋ยเรียนรู้โดยการปฏิบัติเปรียบเทียบ

เพื่อหาข้อสรุป เช่น การทำเกษตรใช้ปุ๋ยอินทรีย์สูตรต่าง ๆ แล้วนำผลผลิตที่ได้มาเปรียบเทียบกันนำผลผลิตเกษตรที่ได้มาแปรรูปขายให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิเด็ก และแขกที่มาเยี่ยมชมเพื่อรวบรวมข้อมูลเพื่อพัฒนาอาหารให้มีรสชาติเป็นสากลและอนาคตจะทำโชว์รูมเพื่อโชว์ผลผลิตงานไม้ งานเฟอร์นิเจอร์ งานประดิษฐ์เพื่อให้ผู้ใหญ่ใจดี มาชม มาติ และนำไปใช้โดยบริจาคให้เป็นทุนในการพัฒนางาน เด็กๆ ที่เป็นเด็กพิเศษจะได้เรียนรู้ การผลิต การพัฒนาผลงาน การตลาด เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตที่ถูกต้องในอนาคต ตามความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นวิชาสามัญ หรือ ทักษะอาชีพ

ดร.กนกวรรณฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ได้รับทราบข้อเสนอและปัญหาของโรงเรียน ที่มีความหลากหลายทั้งด้านปัญหา และความสามารถ รัฐจึงควรสนับสนุนการศึกษาทางเลือก เช่น พ่อแม่จัดการศึกษาเองที่เรียก โฮมสคูล โรงเรียนดีขนาดเล็กใกล้บ้านให้เป็นโรงเรียนทางเลือกที่มีหลักสูตรเน้นของดีในชุมชน คนดีในชุมชน และทำวิจัยชุมชน ชุมชนเป็นฐานของสังคมใหญ่ ชุมชนเข้มแข็ง (ฐานดี) สังคมก็เข้มแข็งด้วย ขอให้สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการอ่านในโรงเรียนขนาดเล็ก ลดการประเมินโดย O-net ขอให้มีการคัดกรองเด็กและถ้าเป็นเด็กพิเศษควรจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แตกต่างตามสมรรถนะของแต่ละคน รวมถึงการส่งเสริมการศึกษาฟรี ให้แก่เด็กตั้งแต่แรกเกิดเพื่อลดปัญหาเด็กพิเศษ การจัดการอุดหนุนรายหัวเป็นคูปอง หรือบัตรทุนการศึกษา เพื่อให้เด็กเลือกสถานที่เรียน ตามความต้องการ ให้สอดคล้องกับคุณภาพของสถานศึกษานั้น ๆ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ได้รับไว้ และจะนำไปสู่การดำเนินการจัดทำแนวทางที่เหมาะสมต่อไป”

สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน​

error: Content is protected !!