ข่าวใหม่อัพเดท » “เสมา 3” รุกคืบดันงาน กศน.จัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส

“เสมา 3” รุกคืบดันงาน กศน.จัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส

5 ธันวาคม 2019
0

“เสมา 3” รุกคืบดันงาน กศน.จัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส

         วันที่ 2​ ธ.ค.62​ ณ ห้องพระขรรค์เพชร อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ​ : ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เป็นประธานการประชุมหารือคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดทำแผนการจัดการศึกษา สำหรับผู้ด้อยโอกาส (คนเร่ร่อน คนพิการ) พร้อมด้วย นายกมล รอดคล้าย ที่ปรึกษา รมช.ศึกษาธิการ,นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ,นายพะโยม ชิณวงศ์ หัวหน้าคณะทำงาน รมช. ศึกษาธิการ,นายกุลธร เลิศสุริยะกุล ประธานเครือข่ายองค์กรเพื่อเด็กเร่ร่อน ผู้แทน กศน.,ผู้แทนกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ,ผู้แทนศูนย์พัฒนาเด็กพิเศษ พระมหา ไถ่ และแผนการจัดการศึกษา สำหรับผู้ด้อยโอกาส (คนเร่ร่อน คนพิการ)

          ดร.กนกวรรณฯ เปิดเผยว่า “จากที่เคยลงพื้นที่ติดตามปัญหากลุ่มเด็กเร่ร่อนและเด็กด้อยโอกาส ในพื้นที่หัวลำโพง กรุงเทพมหานคร และพื้นที่อื่นๆ คณะทำงานตนได้รวบรวมข้อมูลเด็กเร่ร่อนและเด็กด้อยโอกาสอย่างจริงจังเพื่อนำไปสู่การวางแผนดำเนินการให้จริงจัง และเห็นผล โดยได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการจัดทำแผนการจัดการศึกษา สำหรับผู้ด้อยโอกาส (คนเร่ร่อน คนพิการ) โดยได้ยกร่างแผนการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส (คนเร่ร่อน คนพิการ) เพื่อให้เด็กเร่ร่อน และผู้พิการ ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา การเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ สามารถสร้างอาชีพ มีรายได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกิดทักษะชีวิต และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

          ซึ่งภายในปี 2564 สำนักงาน กศน. ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการอย่างทั่วถึง ได้รับความเสมอภาค และต่อเนื่องตลอดชีวิต ได้รับการฝึกให้ถูกต้องตามความต้องการ และความพิการของแต่ละคน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้พร้อมทั้งภาคีเครือข่ายเข้ามามีส่วนร่วม และในขณะนี้ได้จัดทำยุทธศาสตร์สู่ความสำเร็จการจัด กศน. กลุ่มเด็กเร่ร่อน และสำหรับคนพิการ พ.ศ.2563–2564 เสร็จแล้ว จะได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ตามที่วางไว้ต่อไป”

          ดร.กนกวรรณฯ กล่าวต่อไปว่า “ตนให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดการศึกษาสำหรับเด็กเร่ร่อน และผู้พิการเป็นอย่างมาก ได้วางมาตรการในการดำเนินงาน เพื่อทำให้เกิดกลไกการขับเคลื่อน มีการพัฒนาครูผู้สอน ต้องเข้าถึง เข้าใจ ผู้พิการอย่างลึกซึ้ง งบประมาณก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะครู กศน. ที่ดูแลคนพิการมีความลำบากจริง ในการทำงานในพื้นที่ตนก็พยายามผลักดันในเรื่องของค่าตอบแทนครู กศน. กลุ่มนี้ต่อไป อีกทั้งได้เชิญผู้แทนกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อร่วมหารือในเรื่องงบประมาณด้วย ซึ่งต้องชื่นชม และขอบคุณภาคีเครือข่าย และคณะทำงานที่ร่วมอุทิศตนในการทำงานนี้ เพราะถือว่าเป็นผู้เสียสละในการร่วมพัฒนาอย่างจริงจัง“

สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน​

error: Content is protected !!