เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.อรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) กล่าวภายหลังการเป็นประธานในพิธีประกาศ นโยบาย 5 ส ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ว่า จากการหารือร่วมกับ พลโท พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เกี่ยวกับการจัดการศึกษาเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่าจะใช้กลไกการทำงานของสภาสันติสุขตำบล มาเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาในส่วนของการจัดการศึกษาเอกชน
ซึ่งสภาสันติสุขตำบลนั้น จัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผนึกกำลังร่วมกันในทุก ๆ ภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ ผู้นำท้องที่, ผู้นำท้องถิ่น, ผู้นำศาสนา, ผู้นำทางศรัทธา และประชาชนในพื้นที่ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ได้บูรณาการการมีส่วนร่วมในการสะท้อนแก้ไขปัญหา ให้เกิดการพัฒนาที่แท้จริงตรงตามความต้องการของคนในพื้นที่ และร่วมขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาสร้างสังคมที่สงบสุข โดยปราศจากเงื่อนไขที่เอื้อต่อการใช้ความรุนแรง ให้มีบรรยากาศเกื้อกูลต่อการพัฒนาและสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน
ถือเป็นโครงการหนึ่งที่เป็นความหวังของประชาชนในพื้นที่ ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อ หรือปรัชญาในการแก้ไขปัญหาว่า ควรจะเป็นเรื่องที่ประชาชนมีบทบาทที่สุดในการแก้ไขปัญหา เพราะประชาชนในพื้นที่เข้าใจ รู้สภาพ รู้บุคคล รู้สถานที่ น่าจะดีกว่าบุคคลที่อยู่นอกพื้นที่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคคลในพื้นที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และบุคคลที่มีความสำคัญ คือ ผู้นำศาสนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ข้าราชการทุกหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ในตำบล และภาคประชาชน ซึ่งอาจจะมาจากโต๊ะครู สถาบันปอเนาะ หรือเจ้าของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มเยาวชน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ดร.อรรถพล กล่าวต่อไปอีกว่า ในส่วนของแนวทางการพัฒนาด้านการศึกษาเอกชนจะสามารถ บูรณาการไปพร้อมกับการทำงานของสภาสันติสุขตำบลได้ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือ และการขับเคลื่อนของหลายๆ ภาคส่วนไปพร้อมกัน เพราะนโยบายการทำงานของสภาสันติสุขตำบลก็มีแนวทางการทำงานที่สอดรับกับนโยบายการดำเนินงานของ สช. ในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมพื้นที่ให้ปลอดภัย งานแก้ไขปัญหายาเสพติด และการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นการสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่
โดยได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานเป็นหัวใจหลักในการแก้ไขปัญหา และดำเนินการปฏิบัติงานตามแผนเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจําปี 2562 และในปัจจุบันสภาสันติสุขตำบล มีจำนวนทั้งสิ้น 290 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส และมีแผนการดำเนินงานที่จะขยายให้ครอบคลุมไปยังจังหวัดสตูล ซึ่งจะสามารถทำให้เข้าถึงการพัฒนาการการศึกษาเอกชนได้อย่างครอบคลุม
ทั้งนี้ ในวันที่ 24 ธ.ค.62 นี้ สช.จะได้ร่วมประชุมหารือกับตัวแทนของสภาสันติสุขตำบล เพื่อหารือเกี่ยวกับการวางระบบ และกำหนดทิศทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษาเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีเป้าหมายคือ ร่วมกันพัฒนาให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งต่อไป ดร.อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน