วันนี้ (19 ธ.ค. 62) เวลา 10.30 น. นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงแก่สื่อมวลชนถึง ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนชาวประมง ซึ่งได้มีการยื่นข้อเรียกร้องรวม 11 ข้อ อันได้แก่
- ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งหมดหยุดออกกฎหมาย กฎระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ที่จะส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง
- ให้มีการเสนอแก้ไขกฎหมาย พ.ร.ก. ประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยเร่งด่วนในช่วงการประชุมสภานิติบัญญัตินี้
- ให้รัฐบาลเร่งซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว โดยขอให้รัฐบาลตั้งงบจำนวน 10,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ในการนำเรือประมงออกนอกระบบ
- ขอให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือชาวประมงในโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับชาวประมง
- ขอให้กรมประมง กรมการจัดหางานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการอนุญาตให้ใช้กฎหมายมาตรา 83 แห่ง พ.ร.ก. การประมง ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
- ขอให้ยกเลิก แก้ไข กฎระเบียบ ที่เป็นปัญหาในทางปฏิบัติของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ส่งผลกระทบให้กับชาวประมง
- เรือประมงขนาดไม่เกิน 30 ตันกรอสไม่ควรมีนโยบาย VMS
- ขอให้หยุดการนำเข้าสินค้าสัตว์น้ำจากต่างประเทศ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าสัตว์น้ำของไทย
- ขอให้พิจารณาเพิ่มวันทำการประมง
- ขอให้คณะกรรมการกำกับดูแลโครงการจำหน่ายน้ำมันดีเซลสำหรับชาวประมงในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรทบทวนแนวทางที่จะบังคับให้บริษัทจำหน่ายน้ำมัน บังคับให้ชาวประมงจ่ายผ่านบัตรฟรีทการ์ด (Fleet Card) ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนให้ชาวประมง
- ขอให้มีการทบทวนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมงกรณีที่ถูกบังคับให้ใช้กฎหมายประมงที่ไม่เป็นธรรมโดยตั้งคณะกรรมการพิจารณา
ทั้งนี้ รองโฆษกฯ เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ซึ่งสามารถหาข้อสรุปได้ในหลายประเด็น คือ การทบทวนกฎ ระเบียบ เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการการประมง โดยรวบรวบกฎระเบียบ แก้ไขปัญหาความเดือนร้อนให้แก่ชาวประมง กรณีเรือประมงขนาดเล็กที่มีน้ำหนักไม่เกิน 30 ตันกรอส โดยกรมประมงยืนยันว่า จะยังไม่มีนโยบายให้ติด VMS รวมทั้งจะมีการพิจารณาประเด็นอายุของแรงงานที่กำหนดให้มีอายุ 18 ปี เป็น 16 ปี เพื่อเติมจำนวนแรงงานประมงได้ รวมทั้งเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยและขยายระยะเวลาในการทำประมง ในส่วนการเงินนั้น เห็นชอบให้มีการจัดทำสินเชื่อให้แก่ชาวประมงผ่านธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป รวมทั้งจะให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและผู้แทนชาวประมง เพื่อศึกษาอุปสรรคในการประกอบอาชีพและดำเนินการแก้ไขอย่างยั่งยืน ต่อไป
ทั้งนี้ รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายระยะยาวที่มุ่งให้ทะเลมีความอุดมสมบูรณ์ให้ไทยเป็นประเทศปลอด IUU ว่า รองนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ ประชุมกันให้บ่อยครั้งมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อน ติดตามการแก้ปัญหาของประมงไทย โดยการประชุมครั้งต่อไปจะมีขึ้นในเดือนถัดไปนี้
ขอบคุณข้อมูล : กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก