วันที่ 26 ธ.ค.62 เวลา 09.00 น. : ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เปิดเผยเรื่องเด่นการวิจัยไทยในปี 2562 มีด้วยกัน 10 เรื่อง ได้แก่
1.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) (Ministry of Higher Education, Science, Research and Innovation : MHESI) กระทรวงใหม่ล่าสุดของประเทศ ก่อตั้งขึ้นในวันที่ 2 พ.ค.62 จากการควบรวม 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี,สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา,สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนและสนับสนุนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม
2.วช. โฉมใหม่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ-วช.5G สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เปลี่ยนเป็น สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์,เทคโนโลยี,สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ ตั้งแต่การวิจัยจนถึงการนำไปใช้ประโยชน์ประกาศนโยบาย วช. 5G พลิกโฉมเป็นส่วนราชการที่มีประสิทธิภาพสูง รวดเร็ว คล่องตัว เชื่อมโยงนโยบายสู่การปฏิบัติได้ทันที
3.กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และบทบาท PMU ในการบริหารการวิจัยและนวัตกรรม มีการบริหารงบประมาณการวิจัยของประเทศผ่านกลไกกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเกิดหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม (Program Management Unit, PMU) หลักทั้งในและนอกกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ประกอบด้วย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.),สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.),สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.),สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และจัดตั้งหน่วยบริหาร โดยจัดการทุนวิจัย และนวัตกรรม อีก 3 PMU ขึ้นใหม่ ได้แก่ ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.),ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
4.งบฯวิจัยและนวัตกรรมของไทย ถึง 1.25% ของ GDP ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพิ่มขึ้นเป็น 216,376 ล้านบาท คิดเป็น 1.25% ของ GDP และคาดว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายของประเทศที่ตั้งไว้คือ 1.5% GDP ภายในปี 2565 และ 2.0% GDP ภายในปี 2570
5.ฐานข้อมูลกลางการวิจัยของประเทศ เกิดฐานข้อมูลกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ มีการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของข้อมูล เช่น Analytic & Prediction,Cloud Computing,IOR,AI,Big data เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรมระดับชาติและนานาชาติ เป็นฐานข้อมูลการวิจัยและนวัตกรรม ที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เป็นเอกภาพ โดย วช.และสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รับผิดชอบ
6.วิจัยไทยใช้ได้จริง ผลงานวิจัยของนักวิจัยไทยสามารถนำไปใช้ได้จริงจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ปลดล็อคส่งออกมะม่วงไปสหรัฐอเมริกา ตอบสนองแนวคิด BCG Model โดยความสำเร็จของผลงานวิจัยและพัฒนา ทำให้สามารถส่งออกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองไปยังสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จในรอบ 12 ปี,ศูนย์ข้อมูลฝุ่น PM 2.5 อย่างครบวงจร เรียกว่า ระบบข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเบ็ดเสร็จ (NRCT Air Quality Information Center) เพื่อให้เป็น Platform การตรวจวัดและข้อมูลค่าฝุ่นละอองที่มีความถูกต้อง แม่นยำ และเป็นมาตรฐานเดียวกัน ให้ข้อมูลกับประชาชนอย่างทันท่วงที,ธนาคารปูม้าทั่วประเทศ ขยายผลจากผลงานวิจัยและนวัตกรรม และบูรณาการขับเคลื่อนธนาคารปูม้า จำนวน 531 แห่ง จากเป้าหมาย 500 แห่ง โดยมีจำนวนแม่ปูเข้าสู่ธนาคารกว่า 113,000 ตัว ประมาณการจะมีลูกปู กลับเข้าสู่ทะเลไทย 56.5 ล้านตัว
7.ผลงานวิจัยไทยคว้ารางวัลระดับโลก นักวิจัยไทยคว้ารางวัลระดับโลกใน 4 เวทีนานาชาติ จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์,เกาหลี,เยอรมัน และมาเลเซีย ได้รางวัลเป็น 1,รางวัลเกียรติยศ (Grand Prize) จากผลงานเรื่อง ระบบควบคุมอุณหภูมิการเผาไหม้เครื่องกังหันก๊าซ แบบอัตโนมัติ ของ กฟผ. 3 เหรียญทองเกียรติยศ 12 Special Prizes 69 เหรียญทอง 128 เหรียญเงิน 88 เหรียญทองแดง
8.โครงการวิจัยท้าทายไทย การวิจัยมุ่งเป้าขนาดใหญ่เพื่อประชาชน ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ แก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดีแบบครบวงจร อัตราการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ลดลงจาก 43% เหลือ 13% ใน 2 ปี Precision Medicine in Cancer ช่วยให้แพทย์ค้นหาผู้ป่วยมะเร็งที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ป้องกันหรือคัดกรองมะเร็งในสมาชิกครอบครัว เช่น ในกรณีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะช่วยป้องกันหรือลดโอกาสเกิดมะเร็งรายใหม่ได้ราวปีละ 5,000 ราย
9.วิจัยเพื่อท้องถิ่น ผลิดอกออกผลนวัตกรรมในการจัดฟาร์มกระบือแบบประณีต ทำให้การจัดการฟาร์มกระบือมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตอาหาร โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ทำให้กระบือมีคุณภาพดี การกระตุ้นการออกดอกและเพิ่มการติดผลของลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ทำให้ลิ้นจี่พันธุ์ค่อมออกดอกและควบคุมให้มีการพัฒนาจนสามารถเก็บผลผลิตได้เครื่องอบแห้งผลิตผลการเกษตร ช่วยลดความชื้นผลผลิตทางการเกษตร สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำให้ลดระยะเวลาและลดปัญหาการขาดแรงงาน โดยกลุ่มเกษตรกรใน 17 จังหวัดได้ใช้เครื่องนี้แล้ว
10.เชื่อมไทย เชื่อมโลกด้วยการวิจัยศูนย์แห่งความเป็นเลิศนานาชาติ ดิจิทัลหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกรุงเทพ (DBAR-ICoE Bangkok) โดยเป็น 1 ใน 8 ศูนย์ทั่วโลก
ความร่วมมือกับนานาชาติ อาทิ เยอรมัน,อังกฤษ,จีน,เกาหลี,ญี่ปุ่น และอินเดีย ความร่วมมือด้านพลังงานระหว่าง วช. สกสว. และ Korea Institute of Energy Technology Evaluation and Planning (KETEP)
ในปี 2563 วช.และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ จะได้ร่วมมือกันในการขับเคลื่อนยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อทำให้เกิดผลงานที่มี Impact สูงทางสังคมและเศรษฐกิจ สร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางวิชาการ ตอบโจทย์ท้าทายสำคัญทางสังคม ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ บรรลุตามเป้าหมายการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน