ข่าวใหม่อัพเดท » สมาคมนักข่าวฯ​ เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2562 ปีแห่งการ “ทรุดหนัก ฝ่ามรสุม สู่โอกาสใหม่”

สมาคมนักข่าวฯ​ เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2562 ปีแห่งการ “ทรุดหนัก ฝ่ามรสุม สู่โอกาสใหม่”

2 มกราคม 2020
0

สมาคมนักข่าวฯ​ เผยแพร่รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนในรอบปี 2562 ปีแห่งการ “ทรุดหนัก ฝ่ามรสุม สู่โอกาสใหม่” รายงานสถานการณ์สื่อมวลชนประจำปี 2562 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

สถานการณ์ด้านสื่อมวลชนไทยในรอบปี พ.ศ.2562 เป็นปีแห่งการ “ทรุดหนัก ฝ่ามรสุม สู่โอกาสใหม่” เพราะ เทคโนโลยีได้เข้ามาทำให้ข่าวสารมีปริมาณมากและนำเสนอฉับไว ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมุ่งหน้าเสพข่าวสารผ่าน ออนไลน์มากขึ้น อุตสาหกรรมสื่อตกอยู่ในสภาพย่ำแย่อย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายปี สื่อทุกแขนงเร่งปรับตัวขนานใหญ่ โดยยึดหลักระหว่างปัจจัยทางเศรษฐกิจกับมาตรฐานคุณภาพ เรียกความน่าเชื่อถือของวิชาชีพกลับมาอย่างยั่งยืน แม้กฎหมายพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ​ (คสช.) ที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของสื่อยกเลิก มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี​ 2560 และได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ​ 5​ ปี แต่การแทรกแซงมีความซับซ้อนขึ้น ดังนั้นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่ง​ประเทศ​ไทย จึงสรุปสถานการณ์สื่อ 2 กรณี ดังนี้

1.เกาะติดกฎหมายกระทบเสรีภาพ
รัฐธรรมนูญฉบับปี​ 2560​ รองรับสิทธิในการแสดงความคิดเห็น การพูด การพิมพ์ไว้ในมาตรา​ 34 และมาตรา​ 35 บัญญัติให้บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสาร หรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรม แห่งวิชาชีพ พร้อมได้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง และยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพของสื่อมวลชน ประเทศไทยเข้าสู่บรรยากาศแห่งการฟื้นฟูประชาธิปไตย หลังมีการเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่​ 24 มีนาคม​ 2562 มีการแทรกแซงสื่อได้พลิกแพลงมากขึ้น จากเดิมมีการกดดันโดยโทรศัพท์ไปถึงผู้บริหารสื่อแขนงนั้นที่เสนอข่าวกระทบต่อผู้มีอำนาจ และได้เพิ่มช่องทางโทรศัพท์หรือประ สานไปที่นักข่าวภาคสนามโดยตรง ท่ามกลางมีข่าวปลอมระบาด โดยเฉพาะในช่วงระหว่างมีการเลือกตั้ง องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วยสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ ร่วมกันขอให้สื่อมวลชนทุกแขนงต้องใช้เสรีภาพบนความร่วมรับผิดชอบ​ ร่วมสกัดกั้นข่าวปลอม โดยคำนึงถึงมาตรฐานวิชาชีพที่ บัญญัติไว้ในข้อบังคับจริยธรรมของสภาวิชาชีพ โดยสื่อมวลชนต้องทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบ กลั่นกรองข้อมูล ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวปลอม ก่อนนำเสนอ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในระดับสากล หลังได้รัฐบาลใหม่ กระทรวงดิจิ ทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม​ (ดีอี) ได้จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบข่าวปลอม บนความหวาดระแวงของประชาชนและองค์กรสื่อ ที่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ละเมิดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน

และยังต้องเกาะติดการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พ.ศ.2562​ และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562​ มีหลายประเด็นที่อาจจะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ กฤษฏีกาคณะพิเศษไปแล้ว รอเข้าคณะรัฐมนตรี ก่อนส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยองค์กรสื่อยืนยันหลักการในการกำกับดูแลกันเอง อันเป็นหลักสากลที่นานาประเทศใช้กำกับดูแลเรื่องจริยธรรม ไม่มีตัวแทน ฝ่ายรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง

2.ธุรกิจสื่อเจอศึกหนักยิ่งทรุดฮวบ-เร่งปรับโมเดลธุรกิจสู่โอกาสใหม่
คลื่นสึนามิดิจิทัลดิสรัปชั่น กระหน่ำธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ ทีวีดิจิทัล เป็นระลอก สำนักงานคณะกรรมการกสทช. จ่ายค่าชดเชยและยุติการออกอากาศ 7ช่องทีวีดิจิทัล ประกอบด้วย ช่อง​ 26 บริษัทสปริง​ 26 จำกัด,ช่อง​ 19 บริษัทสปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด,ช่อง​ 20 บริษัทไบรท์ ทีวี จำกัด,ช่อง 21 บริษัทวอยซ์ ทีวี จำกัด,ช่อง 14 บริษัท อสมท. จำกัด​ (มหาชน), ช่อง​ 28 บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด​ และช่อง​ 13​ บริษัท บีอีซี มัลติมีเดีย จำกัด ที่เหลืออีก​ 15​ ช่องต้องแข่งขันปั๊มเรตติ้ง เพื่อชิงงบฯโฆษณา

ขณะเดียวกันหนังสือพิมพ์เป็นสื่อที่ถูกพิษดิจิทัลดิสรัปชันหนักที่สุด โดยผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมไปออนไลน์แทน ในที่สุดหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่หัวเขียว “ไทยรัฐ” เปิดโครงการลาออกด้วยความสมัครใจอีกครั้งในช่วงต้นปี รวมถึงหนังสือพิมพ์ ภาษาอังกฤษ THE NATION หนังสือพิมพ์​ “M2F” แท็บลอยด์แจกฟรี หนังสือพิมพ์“โพสต์ทูเดย์” ยุติการตีพิมพ์บนหน้าหนังสือพิมพ์ นำเสนอเนื้อหาเข้าสู่เว็บไซต์เต็มตัว พร้อมเลิกจ้างพนักงานบางส่วน หนังสือพิมพ์​ “สยามกีฬา” ควบรวมหนังสือพิมพ์และนิตยสารในค่ายสยามสปอร์ต ไว้ในฉบับฟุตบอลสยาม มวยสยามและสยามดารา โดยนำเนื้อหาบางส่วนของ ฟุตบอลสยามและมวยสยามนำเสนอผ่านเว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ภาคเหนือไทยนิวส์ทิ้งท้ายเดือนธันวาคม​ 2562 ลดจำนวน หน้าจาก​ 16​ หน้าเหลือ​ 12​ หน้า

ท้ายสุดในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นสื่อมวลชนแขนงต่างๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ กองบรรณาธิ การ นักข่าว ต่างเร่ง ปรับตัวในช่วงวิกฤติให้เป็นความท้าทาย โดยเชื่อมโยงทุกแพลตฟอร์มสู่กลุ่มเป้าหมาย พันธมิตรทางธุรกิจ สู่โมเดลธุรกิจสื่อใหม่ เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืน

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
30 ธันวาคม 2562
สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน​
www.tja.or.th

error: Content is protected !!