ข่าวใหม่อัพเดท » 2 รัฐมนตรี ปลื้ม การศึกษาเอกชน มาถูกทาง เป็นทางเลือกคุณภาพการศึกษาทุกมิติ

2 รัฐมนตรี ปลื้ม การศึกษาเอกชน มาถูกทาง เป็นทางเลือกคุณภาพการศึกษาทุกมิติ

10 มกราคม 2020
0

วันที่ 9 ม.ค.63 ณ ห้องศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (DOC) ชั้น 9 อาคารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5 กระทรวงศึกษาธิการ​ : ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ มอบนโยบาย และมอบหมายงานแก่โรงเรียนเอกชนนอกระบบและในระบบ โดยมี นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการประชุมชี้แจง สร้างความเข้าใจ และมอบนโยบายงานการศึกษาเอกชนผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ (Video Conference) พร้อมด้วย และนายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) ผู้บริหาร ข้าราชการ สช. และโรงเรียนเอกชนนอกระบบเข้าร่วมการประชุม

นายณัฏฐพลฯ กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมว่า “การจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชน เป็นการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ มีส่วนช่วยในการจัดการศึกษา และแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการจัดการศึกษาของเยาวชน ทำให้รัฐสามารถประหยัดเงินงบประมาณในการลงทุนด้านการศึกษาเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นโรงเรียนใกล้บ้าน มีการคมนาคมที่สะดวก จึงสามารถดึงดูดความสนใจของนักเรียนและผู้ปกครองในเรื่องความสะดวกสบาย และการประหยัดเวลา ช่วยให้เกิดการแข่งขันด้านคุณภาพทางการศึกษา

โดยผู้ปกครองและนักเรียนมีโอกาสในการเลือกสถานศึกษาได้มากขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนที่ดีมีคุณภาพ และมีมาตรฐานการศึกษาสูงจะเป็นคู่แข่งของโรงเรียนรัฐ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาที่สูงขึ้น เป็นการขจัดหรือลดความผูกขาดในการจัดการศึกษา อีกทั้ง โรงเรียนเอกชนยังมีจุดเด่นในการบริหารจัดการที่มีความคล่องตัว และมีอิสระในการบริหารงานมากกว่าระบบราชการ จึงสามารถลดขั้นตอนและระเบียบวิธีการในการบริหารงานด้านต่างๆ ที่เอื้อต่อการจัดการศึกษาได้อย่างเต็มที่ และประหยัดเวลา ประหยัดงบประมาณ และกำลังคน ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักของการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ยังมีความคล่องตัวในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินกิจการโดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านระเบียบ ข้อบังคับ เหมือนโรงเรียนภาครัฐ จึงสนองความต้องการของผู้เรียนได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ และที่สุดแล้วการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนโดยโรงเรียนเอกชนสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ และโรงเรียนนอกระบบมีผู้สอนที่มีความเชียวชาญในสาขาวิชาอย่างแท้จริง การันตีได้ว่าผู้เรียนที่สำเร็จหลักสูตรแล้วสามารถนำไปประกอบอาชีพได้อย่างมีคุณภาพ

ต้องขอขอบคุณโรงเรียนเอกชนทุกประเภท ทั้ง 14,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ที่มีส่วนในการช่วยพัฒนาการศึกษา ภายใต้หลักความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างบรรยากาศการแข่งขันในระบบการศึกษา ร่วมถึงกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาเอกชนเพื่อให้การศึกษาเอกชน เป็นทางเลือกคุณภาพที่ดีกว่าของผู้เรียน และผู้ปกครอง ได้อย่างแท้จริง”

ดร.กนกวรรณฯ กล่าวในการประชุมว่า​ “ภายหลังได้รับมอบหมายงานให้ดูแล สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ ก็รับฟังแนวทางการดำเนินงาน อาจจะมีปัญหาบ้างก็หาวิธีทางในการช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ในส่วนของ สช. เองได้ดำเนินการตามนโยบายที่วางไว้และได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนี้คือ นโยบายปรับเพิ่มค่ารักษาพยาบาลของผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา โรงเรียนเอกชน ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

โดยเพิ่มวงเงินจาก 100,000 บาท เป็น 150,000 บาท และเบิกจ่ายได้ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด นโยบายโครงการพัฒนาครูโรงเรียนเอกชน เพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จำนวน 23,000,000 บาท เพื่อพัฒนาครูโรงเรียนเอกชนในช่วงระหว่างปิดภาคเรียน ระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา

การขอโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณมาเบิกจ่ายเป็นเงินอุดหนุนให้กับโรงเรียนเอกชน จากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นจำนวนเงิน 201,929,107.12 บาท การปรับปรุงแก้ไขประกาศ การดำเนินงานกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ กรณีโรงเรียนประสบภัยพิบัติ การจัดอบรมโครงการลูกเสือมัคคุเทศก์ โดยมีจังหวัดนำร่อง จำนวน 8 จังหวัด โดย สำนักงานลูกเสือแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมให้กับโรงเรียนในแต่ละสังกัดในช่วงเดือน ธันวาคม 2562 ถึง มกราคม 2563″

ดร.กนกวรรณฯ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สำหรับนโยบายที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ การจัดทำระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลของผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน เนื่องจากปัจจุบันผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาโรงเรียนเอกชน ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล และรอการเบิกจ่ายจากกองทุนสงเคราะห์ในภายหลัง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการเบิกจ่ายนาน ทำให้เกิดความเดือดร้อน ตนจึงมีนโยบายช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อน โดยให้กองทุนสงเคราะห์ ศึกษารายละเอียดในการจัดทำระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล

ขณะนี้กองทุนสงเคราะห์ ได้ศึกษารายละเอียดระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลจากกรมบัญชีกลาง สำนักงาน กกต. และสำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) แล้วคาดว่าจะสรุปผลการศึกษารายละเอียดได้ภายในเดือน มกราคม 2563 และจะเสนอคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์พิจารณาในเดือน กุมภาพันธ์ 2563 กรณีการขอผ่อนผันใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู โรงเรียนเอกชน กรณีขอผ่อนผันสำหรับครู ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ครบ 3 รอบๆ ละ 2 ปี รวม 6 ปี จำนวน 112 ราย

ขณะนี้ สช.อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบข้อมูลครู จำนวน 112 ราย ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) ของคุรุสภาต่อไป นอกจากนี้ โครงการพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสู่ศตวรรษที่ 21 นั้นตนมีนโยบายพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสู่ศตวรรษที่ 21 โดยจัดอบรมหลักสูตรนักบริหารเอกชนระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (นบส.สช.) โดยเริ่มดำเนินการพัฒนาในปีงบประมาณ 2563 เป็นต้นไป

หลักสูตรอบรมครูแบบทางเลือก (Shopping List) สช. จะดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรอบรมครูแบบทางเลือก (Shopping List) ให้กับครูโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การจัดตั้งศูนย์บริการผู้เรียน ครู/ผู้สอน บุคลากรทางการศึกษาชาวต่างประเทศ (One stop service) ซึ่งตนได้มอบหมายให้ สช. จัดตั้งศูนย์บริการผู้เรียน ครู/ผู้สอน บุคลากรทางการศึกษาชาวต่างประเทศ (One stop service) เพื่อให้บริการชาวต่างชาติที่มาติดต่อราชการในการสมัครเป็นนักเรียน ครู/ผู้สอน ให้มาสามารถรับบริการเบ็ดเสร็จในจุดเดียว โดยจัดเจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ภาษาจีน และภาษาอื่น ๆ เพื่อให้บริการเป็นการเฉพาะ”

“นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างเวทีการแสดงออกของนักเรียนเด็กดาวรุ่ง ซึ่งตนมีนโยบายให้จัดกิจกรรมเพื่อสร้างเวทีการแสดงออกในความรู้ ความสามารถของนักเรียนเด็กดาวรุ่งในวิชาศิลปะ ดนตรี กีฬา หัตถกรรม และอื่น ๆ โดย สช. กำหนดจัดกิจกรรมร่วมกับงานวันการศึกษาเอกชนช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 การจัดตั้งคณะทำงานบริหารจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียน เพื่อให้บริการรับเรื่องราวร้องทุกข์ ร้องเรียน แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One stop service) เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ในการให้บริการ การตัดโอนตำแหน่งและอัตราเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตนได้ร่วมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อขอรับการตัดโอนข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ตำแหน่ง ครู จำนวน 132 อัตรา มาสังกัดสช. เพื่อแก้ปัญหาในการยกระดับคุณภาพการศึกษาเอกชนต่อไป” ดร.กนกวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

Cr.ภาพ /ข่าว : เอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ. กรรณิกา พันธ์คลอง
สุรเชษฐ​ ศิลา​นนท์​ รายงาน​

error: Content is protected !!