ให้เดินเพียง 4-5-9 ก็มีพืชผัก ไก่ ปลา ไว้กินไว้ขาย…นี่คือ แนวคิดการอยู่อย่างพอเพียงที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 ชุนชนบ้านวังน้ำขาว ตำบลวังน้ำขาว อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย
วันที่ 10 มกราคม 2563 เวลา 9.30 น. โดยมีนายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียง 459 บ้านวังน้ำขาว รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับและร่วมในพิธีเปิด ท่ามกลางประชาชนในพื้นที่และผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ได้มีการก่อตั้งขึ้นจากความต้องการของชุมชน โดยมีนายทองเพชร คลังแสง ประธานศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วีถีพอเพียง 459 บ้านวังน้ำขาว ม. 2 ต. วังน้ำขาว อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย ซึ่งสมาชิกประกอบด้วย 3 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ 2.บ้านวังน้ำขาว หมู่ที่ 7.บ้านวังเด่น และหมู่ที่ 16.บ้านโพธิ์งาม ได้จัดอบรมตามโครงการสัจจะธรรมชีวิต เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตร และสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชนโดยการออมเงิน ชาวบ้านได้เห็นความสำคัญของการเรียนรู้จึงร่วมมือกันก่อสร้างอาคารชั่วคราวและมีการจัดซื้อที่ดินซึ่งได้รับงบประมาณบางส่วนจากองค์การบริหารส่วนตำบลวังน้ำขาว โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนทำกินทำใช้”เป็นศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุโขทัย (ส.ป.ก.สุโขทัย) ได้สนับสนุนโรงเรือนผักกางมุ้งตั้งแต่ปี งบประมาณ พ.ศ. 2561 ภายใต้โครงการชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงตำบลวังน้ำขาว โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้น 35,000 บาทในการจัดซื้อวัสดุ และอบรมให้ความรู้เรื่องเทคนิคการสร้างโรงเรือน เป็นโรงเรือนผักกางมุ้งต้นแบบ เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตผักปลอดภัย บริโภคในครัวเรือน และจำหน่ายได้
ใน ปี พ.ศ.2559 ชุมชนได้จัดให้มีการตรวจสารพิษตกค้างในร่างกายของประชาชนปรากฎว่าประชาชน 90% ในหมู่ที่ 2 ต.วังน้ำขาว มีสารพิษตกค้างในร่างกายอยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐานและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ชุมชนจึงรณรงค์ให้ ลดเลิก การใช้สารเคมีและให้มีการปลูกพืชผักอินทรีย์ไว้บริโภคในครัวเรือนเอง โดยใช้ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์วีถีพอเพียง 459 บ้านวังน้ำขาว ม. 2 ต.วังน้ำขาว อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย เป็นแหล่งเรียนรู้ พร้อมลงมือปฏิบัติปลูกพืชผักอินทรีย์ เลี้ยงหมูหลุม และเลี้ยงไก่ไข่ ไว้บริโภคในในครัวเรือน โดยเชิญทีมวิทยากรจาก ธ.ก.ส. มาอบรมให้ความรู้ขยายผลแก่เกษตรกรในชุมชนตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ 459 หลังอบรมเกษตรกรที่เข้าโครงการจะต้องลงมือทำในแต่ละครอบครัวโดยยึดหลักร่วมกันเรียนรู้แล้วแยกกันลงมือทำ ซึ่งแนวทางเกษตรอินทรีย์ 459 จะต้องมีการทำแปลงผักหมักดิน ให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ก่อนปลูกพืชผักให้มีการทำปุ๋ย น้ำหมักชีวภาพไว้บำรุงพืชและไล่แมลง เลี้ยงหมูหลุม เลี้ยงไก่ไข่ เป็นโปรตีนไว้บริโภคและอาจมีการเพาะเห็ดต่าง ๆ ด้วย ซึ่งความหมายของคำว่า 459 ในที่นี้ก็คือ เดินออกจากบ้าน 459 ก็มีพืชผักอินทรีย์ปลอดภัยไว้บริโภค ลดค่าใช้จ่าย พืชผัก ปลา ไข่ เหลือกิน อาจขายได้เงินมาใช้จ่ายหรือออมและอาจหมายความตามแนวคิดที่ว่าปลูกพืชผักไว้บริโภคลดค่าใช้จ่ายหรือขายสร้างรายได้ในระยะเวลาประมาณ 45 วัน เป็นการดำเนินกิจกรรมตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ ในหลวงรัชกาลที่ 9
ในปี พ.ศ.2562 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จังหวัดสุโขทัย ได้คัดเลือกศูนย์เรียนรู้ต้นแบบฯ ให้เป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประกอบกับ ธนาคารได้มีนโยบายในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรสู่ความยั่งยืน ให้การมีร่วมกันใช้ทรัพยากรในชุมชนพร้อมให้บูรณาการร่วมมือกันกับเครือข่าย ชุมชนและองค์กรอื่น ๆ และให้พัฒนาสถานที่เป็นแหล่งร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาดูงาน พร้อมให้มีการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์การสืบทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้การผลิตให้มีกิน มีใช้ ในครัวเรือน และสามารถต่อยอดสร้างผลผลิตด้านเกษตรอินทรีย์สู่ตลาดต่างๆ
นายพงศ์เทพ สาคร รายงาน