พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ย้ำหน่วยงานเร่งสร้างการรับรู้ และดูแลประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งครอบคลุมพื้นที่เขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
วันนี้ (6 ก.พ. 63) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและรับทราบผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งของหน่วยงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ โอกาสนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ร่วมประชุมด้วย
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงมีความห่วงใยและติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งและอุทกภัย โดยพระราชทานนโยบายและคำแนะนำในการบริหารจัดการภัยแล้ง ซึ่งทุกหน่วยต้องบูรณาการงาน งบประมาณ ในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนรวมทั้งประสานความร่วมมือในกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค อาเซียน และ อาเซียน +3
นายกรัฐมนตรียังย้ำการดูแลประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งจะต้องทำให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่เขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน ทั้งการส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย การจัดโซนนิ่งการเกษตรด้วยการใช้ Agri map ที่สำคัญต้องสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ด้วย ซึ่งทุกแผนงาน/โครงการขอให้ทำได้จริง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติต้องไปหารือหากโครงการใดที่มีขนาดใหญ่หรือใช้งบประมาณจำนวนมาก สามารถย่อส่วนแผนงานโครงการให้เล็กลงได้หรือไม่ เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ ระหว่างรอร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 มีผลบังคับใช้นั้น ก็ให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปก่อน และเมื่องบประมาณปี 2563 มีผลบังคับใช้แล้วจะได้ดำเนินโครงการได้ทันที
นายกรัฐมนตรียังกำชับฤดูแล้งนี้ที่สำคัญต้องการแหล่งหาพื้นที่เก็บกักน้ำ ทำเป็นแก้มลิง ขุดบ่อบาดาลฝายชะลอน้ำ เตรียมพร้อมสำหรับฤดูฝนที่จะมาถึง ขณะเดียวกันก็ต้องปรับปรุงแหล่งน้ำเดิม บึง หนองน้ำธรรมชาติ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ โครงการต่างๆ ยังช่วยจะช่วยงาน สร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถปลูกพืชหรือทำการเกษตรได้ โดยนายกรัฐมนตรียังย้ำให้ดำเนินการครอบคลุมทุกภาคของประเทศเพื่อเฝ้าระวังพื้นที่การเกษตรทั้งข้าว ไม้ผล ไม้ยืนต้น รวมทั้งให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ติดตามคุณภาพและปริมาณน้ำ แนวทางเก็บกักน้ำก่อนไหลออกนอกประเทศด้วย
นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำในระยะยาวว่า ขอให้ส่งเสริมการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รวมทั้งสืบสาน ต่อยอด โครงการพระราชดำริ และย้ำให้ทุกหน่วยงานต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเห็นภาพการทำงานของรัฐบาลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้แถลงแก่สื่อมวลชน ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการโครงการที่ตรงตามหลักเกณฑ์ กว่า 3,000 โครงการ ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มน้ำต้นทุนได้ 781 ล้าน ลบ.ม. โดยมี 511 โครงการเร่งด่วนในพื้นที่ประกาศภัยแล้ง 18 จังหวัด ซึ่งจะทำให้ เพิ่มน้ำต้นทุนได้ 129 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ สทนช. ได้ประสานงานผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ส่วนราชการระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้รีบนำเสนอแผนงานโครงการที่เป็นความต้องการของชุมชนเพิ่มเติมภายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เพื่อรวมรวบแผนงานโครงการทั้งหมดเสนอต่อรองนายกรัฐมนตรี ก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม.ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ต่อไป
ขอบคุณเรื่องแนะนำจาก
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก